กระทรวงคลัง 29 เม.ย.-คลังปรับลดจีดีพีไทยปี 64 ขยายตัว ร้อยละ 2.3 เหตุผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 เดินหน้าเยียวยาวรายย่อย ลดค่าครองชีพ 1 แสนล้านบาท คาดการเร่งฉีดวัคซีนทั่วประเทศ สร้างความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศ หวังเศรษฐกิจผงกหัวไตรมาส 3-4
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ว่า กระทรวงคลังได้ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 2.3 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ ร้อยละ 1.8 ถึง 2.8) ปรับตัวลดลงจากคาดการครั้งก่อน เมื่อเดือนมกราคม 64 ร้อยละ 2.8 ต่อปี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ เกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงไทย กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทย การเดินทางระหว่างประเทศ และจำนวนนักท่องเที่ยวชาติลดลงร้อยละ -70.7 ในการเดินทางเข้ามายังไทย ทำให้รายได้เข้าประเทศเหลือ 1.7 แสนล้านบาท หรือลดลงร้อยละ -49 ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการปรับจีดีพี
เมื่อรัฐบาลได้เร่งรัดกระจายการฉีดวัคซีนร่วมกับภาคเอกชน จะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ จึงเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจดีขึ้นในไตรมาส 3-4 นอกจากนี้กระทรวงคลังยังเตรียมผลักดัน การเยียวยา ดูแลค่าครองชีพรายย่อยประมาณ 1 แสนล้านบาท บวกกับการเร่งรัดอัดฉีดเงินสู่ระบบผ่าน พ.ร.บ.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ขณะนี้เบิกจ่ายไปแล้ว 649,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 85.4 ของวงเงินอุมัติ 762,000 ล้านบาท และยังมีเงินลงงทุนรัฐวิสาหกิจ 2.5 แสนล้านบาท เงินเยียวยาจากโครงการ คนละครึ่ง เราชนะ เรารักกันกว่า 2 แสนล้านบาท และมาตรการช่วยเหลือจากแบงก์รัฐ ยังเป็นกลไกสำคัญหนุนเศรษฐกิจในประเทศ
โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวร้อยละ 2.3 ต่อปี และ 4.8 ต่อปี ขณะที่การบริโภคภาครัฐและการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวร้อยละ 5.0 ต่อปี และ 10.1 ต่อปี อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลก จากประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากมาตรการทางการคลังและการเงินหลายประเทศ เช่น สหรัฐอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านดอลาร์สหรัฐ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจสหรัฐ จึงคาดการณ์ ส่งออกสินค้าของไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 11.0 ต่อปี
สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.9 ถึง 1.9) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันดิบดูไบที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.2 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -0.3 ถึง 0.7 ของ GDP) ปรับลดลงจากปีก่อน จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงอย่างมาก และมูลค่าสินค้านำเข้าปรับตัวสูงขึ้น
โฆษกกระทรวงการคลัง ย้ำว่า เศรษฐกิจไทยมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1) การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาระลอกใหม่ในหลายประเทศที่ยังมีความรุนแรงและยืดเยื้อ 2) ข้อจำกัดในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3) ราคาน้ำมันดิบที่อาจปรับเพิ่มขึ้นได้ หากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในหลายประเทศรุนแรงขึ้น รวมทั้งการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านพลังงาน และ 4) ความผันผวนของระบบการเงินโลกและเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ แต่ไทยยังมีฐานะการคลังที่มั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ประกอบกับนโยบายการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ที่เน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการลงทุนด้านดิจิทัล และนโยบายการยกระดับปรับทักษะแรงงาน จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัว .-สำนักข่าวไทย