สธ.23 เม.ย.-อธิบดีกรมการแพทย์ ห่วงจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นสูงบริหารเตียงยาก ประสาน รร.แพทย์ รพ.สังกัด กทม. ขยายเตียงไอซียูเพิ่มอีก1เท่า รองรับผู้ป่วยเพิ่มแบบนี้ได้ 20 วัน วอนทุกคนช่วยอยู่บ้านลดการติดเชื้อ แจงปัญหารอเตียงส่วนใหญ่เพราะตรวจแล็บติดเชื้อไม่แจ้งผ่านระบบ ทำให้คนป่วยรู้ตัว แต่ รพ.ไม่รู้เรื่อง
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)กล่าวถึงสถานการณ์การบริหารเตียง 1668 หลังวันนี้ (23เม.ย.) จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อพุ่งสูง 2,070คน ว่า ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อที่พบเพิ่มสูงขึ้น พบว่า ใน กทม. มากสุด 740 คน ซึ่งการบริหารจัดการเตียงต้องยอมรับว่า พื้นที่กทม.จัดการปัญหาเรื่องเตียงยากมากที่สุด ส่วนใหญ่เพราะการที่ผู้ป่วยไปตรวจแล็บคลินิกเอง ทำให้ไม่มี รพ.รองรับ และการแจ้งผลเมื่อพบการติดเชื้อ เป็นแค่โทรศัพท์แจ้ง ไม่มีใบรับรองการตรวจแล็บดังกล่าว อีกทั้งแล็บตรวจไม่เคยส่งข้อมูลผู้ป่วยติดเชื้อให้ทางการ ทำให้ไม่ทราบข้อมูล ทุกวันรพ.ต้องวิ่งหาคนไข้ ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้น และทำให้เกิดปัญหาคนไข้ต้องนอนรอดูอาการอยู่บ้าน ทำให้ความรุนแรงของโรคเพิ่ม เพราะไม่ได้รับยาทันที อาการจากเขียว เป็น เหลือง และ จากเหลืองเป็นแดง
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ตอนนี้นำผู้ป่วยตกค้างวานนี้ (22 เม.ย.) 400 คน เข้าระบบแล้ว อีกทั้งมีสถาบันบำบัดฟื้นฟูยาเสพติด (ธัญญารักษ์) มาดูแลผู้ป่วยสีเหลืองอ่อน จำนวน 200 คน เมื่อวาน เข้ารับรักษา 50 เตียงแล้ว ทั้งนี้จากสถานการณ์ปัจจุบัน ได้ร่วมกับ รร.แพทย์ และรพ.สังกัดกรมการแพทย์ ขยายเตียงไอซียู เพิ่มอีก 1 เท่า เพื่อรับผู้ป่วยหนัก ให้ได้มากที่สุด คาดว่าสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อจากเดิมที่ประเมินไว้ 1,000 คนต่อวัน ที่เรารับได้ หากเพิ่มเช่นนี้เฉลี่ย 2,000 คน ต่อวัน ถ้าไม่มีการเพิ่มขยายเตียงไอซียู ก็จะรับได้แต่ 10 วัน แต่ตอนนี้ขยายแล้ว ก็จะสามารถรับได้ 20 วัน ซึ่งตอนนี้ถือว่าเป็นช่วงสำคัญมากที่ทุกคนจะช่วยดึงกราฟผู้ป่วยให้ลดลง ช่วยกันอยู่บ้าน อย่าออกไปทานข้าวนอกบ้าน เพราะว่าความเสี่ยงอาจเกิดจากโต๊ะข้างๆได้
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับเตียงไอซียูใน กทม.ปัจจุบันมี 700 เตียง ขณะนี้ว่างอยู่140 เตียง ส่วนเคสอาม่า เขตบางคอแหลม ที่เสียชีวิต เพราะรอเตียง จนป่านนี้ข้อมูลยังไม่ชัดเจนว่าไปตรวจที่ใดมาก่อน รายละเอียดต้องเป็นหน้าที่ของ กทม.และสปคม.ที่ต้องประสานมา ทางกรมการแพทย์ จึงเข้าไปช่วยเหลือดูแลได้ ทุกวันนี้เจ้าหน้าที่ต้องวิ่งหาคนไข้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่า ป่วยหรือเปล่า เพราะไม่มีผลตรวจเชื้อยืนยัน ทุกวันนี้ รับผู้ป่วยที่ไม่มีผลตรวจมารักษาด้วยซ้ำ เพราะกลัวอาการเปลี่ยนแปลง .-สำนักข่าวไทย