กทม. 17 เม.ย.-ปิดยอด 7 วันคุมเข้มช่วงสงกรานต์ เมาขับสูงถึง 6,061 คดี อุบลราชธานีแชมป์อันดับหนึ่ง
วันนี้ (17 เมษายน 2564) นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ เผยปิดยอดสถิติคดีเข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติวันสุดท้ายของการควบคุมเข้มงวดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ (16 เมษายน 2564) มีคดีพุ่งสูงถึง 2,365 คดี เป็นคดีขับรถในขณะเมาสุรา 2,251 คดี ขับเสพ 112 คดี ขับรถประมาท 2 คดี สรุปยอดสถิติคดีที่ศาลสั่งคุมประพฤติระหว่างวันที่ 10-16 เมษายน 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,188 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถในขณะเมาสุรา จำนวน 6,061 คดี คิดเป็นร้อยละ 97.95 คดีขับเสพ จำนวน 123 คดี คิดเป็นร้อยละ 1.99 คดีขับรถประมาท จำนวน 4 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.06 จังหวัดที่มีสถิติคดีขับรถในขณะเมาสุราสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 492 คดี จังหวัดเชียงราย จำนวน 356 คดี และจังหวัดชัยภูมิ จำนวน 322 คดี
เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีเข้าสู่งานคุมประพฤติคดีขับรถในขณะเมาสุราช่วงสงกรานต์ พ.ศ. 2562 และ พ.ศ. 2564 พบว่า สงกรานต์ปี 2562 มีจำนวน 12,325 คดี สงกรานต์ปี 2564 จำนวน 6,061 คดี ลดลง 6,264 คดี คิดเป็นร้อยละ 50.82
ในส่วนของการติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวหรือกำไล EM ตามคำสั่งศาล ในวันสุดท้ายของการควบคุมเข้มงวดจำนวน 6 ราย ทำให้ยอดสะสม 7 วัน จำนวนทั้งสิ้น 25 ราย ส่วนใหญ่มีเงื่อนไขตั้งแต่ 22.00-04.00 น. เป็นระยะเวลา 15 วัน พักใช้ใบอนุญาตขับขี่เป็นเวลา 6 เดือน ทั้งนี้ สำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศเฝ้าติดตามและควบคุมดูแลผู้กระทำผิดตลอด 24 ชั่วโมงผ่านศูนย์ควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (Electronic Monitoring Control Center – EMCC) พร้อมประสานเครือข่ายภาคประชาชน อาสาสมัครคุมประพฤติ เตรียมพร้อมลงพื้นที่หากมีการผิดเงื่อนไขคุมความประพฤติ ซึ่งจังหวัดที่ศาลสั่งติดอุปกรณ์ EM สูงสุด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น มีจำนวนถึง 22 ราย
อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวต่อว่า ผู้กระทำผิดที่เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติ โดยเฉพาะผู้กระทำผิดในฐานความผิดขับรถในขณะเมาสุราทุกราย จะต้องผ่านการคัดกรองแบบประเมินการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากพบว่า มีความเสี่ยงสูงในการติดสุรา กรมคุมประพฤติจะส่งเข้ารับการบำบัดรักษา ณ สถานพยาบาล สำหรับผู้กระทำผิดที่มีความเสี่ยงต่อการกระทำผิดซ้ำ หรือมีประวัติการกระทำผิดซ้ำ ต้องเข้ารับการแก้ไขฟื้นฟูแบบเข้มข้นในรูปแบบค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นระยะเวลา 3 วันต่อเนื่อง และยังคงต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขคุมความประพฤติ อาทิ รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ และทำงานบริการสังคม เป็นต้น
สำหรับ วันสุดท้ายของการควบคุมเข้มงวดช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2564 กรมคุมประพฤติ โดยสำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ ได้ร่วมสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการให้บริการประชาชน และอำนวยความสะดวก ประจำจุดบริการประชาชน ด่านชุมชน และด่านตรวจค้น จำนวน 80 จุด และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม ประกอบด้วย อาสาสมัครคุมประพฤติ ภาคีเครือข่าย เจ้าหน้าที่ และผู้ถูกคุมความประพฤติ 356 คน นอกจากนี้ ยังได้มีการตรวจเยี่ยมจุดบริการประชาชน แจกน้ำดื่ม ตรวจวัดอุณหภูมิ เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ประจำจุดบริการ เพื่อให้ประชาชนเดินทางกลับอย่างปลอดภัย และห่างไกลโควิด.-สำนักข่าวไทย