สธ.30 มี.ค.-สธ.แนะสังคมเข้าใจผู้ป่วยไบโพลาร์ อารมณ์ 2 ขั้ว รู้เร็วหายไว โดย 1 คน มีโอกาสป่วยไบโพลาร์มากกว่า 1 ครั้งต่อปี แนะสังเกต นอนไม่หลับกระสับกระส่าย กระตือรือร้นเกินปกติหรือใช้เงินเกินปกติอาจเป็นโรค
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และพญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต ร่วมในงานแถลงข่าว World Bipolar Day “เปิดใจให้ไบโพลาร์” เพื่อสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนทั่วไปในโรคไบโพลาร์
นายอนุทิน กล่าวว่า โรคไบโพลาร์หรือโรคอารมณ์สองขั้ว ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวแต่จริงๆ แล้วใกล้ตัวมาก เนื่องจากพบได้บ่อยถึงร้อยละ1.5- 5 หากคิดตามสัดส่วนประชากรไทย ก็น่าจะมีคนป่วยมากกว่า 3 หมื่นคน และยังเป็นการเจ็บป่วยในอันดับต้นๆ ของโรคทางจิตเวช สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญของโรคทางจิตเวชคือ ไม่มีอาการ ไม่มีบาดแผลทางกายให้เห็นเหมือนโรคอื่น แต่เป็นบาดแผลในใจที่เป็นสิ่งสำคัญมากเพราะฝังลึกกว่าที่แพทย์หรือจิตแพทย์จะรู้
ด้าน พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า โรคไบโพลาร์เป็นผู้ป่วยกลุ่มจิตเวช ที่ยังไม่เป็นรู้จักมากนัก ทำให้มุมมองและทัศนคติไม่ตรงกับตัวโรค โดยผู้ป่วยจะมีภาวะอารมณ์ที่แปรปรวน อารมณ์สองขั้ว บางครั้งออกดูครึกครื้นกว่าปกติ เรียกว่าแมเนีย(Mania Hypomania)สลับกับภาวะอารมณ์ซึมเศร้า(Major Depressed Episode) สลับไปมา ซึ่งบางครั้งอาจทำให้คนรอบข้างไม่เข้าใจ ส่งผลต่อทัศนคติว่าผู้ป่วยเป็นคนที่ไม่ดูแลตนเอง ควบคุมตัวเองไม่ได้ จึงเป็นที่มาในกลุ่มจิตแพทย์เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และกำหนดให้วันที่ 30 มีนาคม เป็น “วันไบโพลาร์โลก” เพื่อพูดเรื่องนี้กับสังคม ทำความเข้าใจกับประชาชนทั่วไปให้มากขึ้น โดยตัวเลขตามทางระบาดวิทยา พบผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ประมาณร้อยละ 1.5 – 5 เกิดมาจากสารสื่อประสาทในสมองทำงานผิดปกติ ผู้ที่มีความเครียดสะสมและในบางรายอาจเกิดจากพันธุกรรมได้ โดยผู้ป่วยสามารถเป็นโรคนี้ซ้ำได้ มากกว่า ปีละ 1 ครั้ง
พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า สำหรับสัญญาณของโรค มีตั้งแต่ไม่หลับไม่นอน กระสับกระส่าย กระตือรือร้นเกินปกติ ใช้จ่ายมากกว่าปกติและในบางรายที่มีอารมณ์สองขั้วก็จะมีเปลี่ยนเป็นอีกขั้วหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และคนที่ป่วยด้วยโรคนี้ ส่วนใหญ่ มักต้องไปอาศัยอยู่กับญาติ ไม่สามารถอยู่กับใครคนใดคนหนึ่งได้นาน เพราะด้วยภาวะอารมณ์หรือความตรึงเครียด จนทำให้มีแนวคิดและพยายามขับเคลื่อน จิตเวชรักษาได้ทุกที่ และเกิดกองทุนยาจิตเวช เกิดการยืมยา
ใน รพ.ชุมชน .-สำนักข่าวไทย