รัฐสภา 4 ม.ค.-“รอมฎอน” ชงหั่นงบ กอ.รมน. หลังเจองบเงินพิเศษ หวั่นจ่ายให้บุคลากรผี แนะรื้อแผนงานแก้ไฟใต้ หนุนคนพื้นที่เจรจากันเอง รื้อคดีตากใบเป็นคดีพิเศษ ด้านนายกฯ โต้เดือดแทนแม่ทัพภาค 4 ยันทำงานยึดประโยชน์ประชาชน
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท วันที่ 2 ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทะ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุม นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงการจัดสรรงบประมาณแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า ตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืน เมื่อปี 2547 พบว่าเกิดสถานการณ์ความไม่สงบจนถึงปัจจุบันกว่า 22,296 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บกว่า 2 หมื่นคน เสียชีวิตกว่า 7,000 คน รัฐใช้งบประมาณเพื่อแก้ปัญหากว่า 5.4 แสนล้านบาท โดยในงบประมาณ 2567 พบการเสนอของบรวม 2.5 หมื่นล้านบาท โดยกำหนดโครงการไว้ในแผนงานบูรณาการแก้ไขปัญหาพื้นที่ภาคใต้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 6.5% ซึ่งมองว่างบฯ ดังกล่าวสามารถปรับลดได้ถึง 1,032 ล้านบาท
“เป้าหมายแผนบูรณาการดับไฟใต้ เพื่อความสงบเรียบร้อยและราบคาบ แต่ผมมองว่าไม่พอเพราะเป็นสันติภาพเชิงลบ ดังนั้น ต้องเพิ่มสันติภาพเชิงบวก ได้แก่ ความยุติธรรม เพราะเงื่อนไขคนต่อต้านก่อกบฎเพราะคนไม่รับความเป็นธรรม ต้องคุ้มครองสันติภาพ แก้ไขกฎหมาย แต่การจัดงบของรัฐบาลทำให้เกิดสันติภาพเชิงลบและเชิงลดเท่านั้น ส่วนงบประมาณที่ใช้ดับไฟใต้ ซึ่งกำหนดไว้นอกแผนบูรณาการ 3 ใน 4 รวมกว่า 5,000 ล้านบาท เช่น งบการกำลังพลและการดำเนินงานของกอ.รมน. วงเงิน 3,535 ล้านบาท ที่อาจเกี่ยวข้องกับบุคลากรผี ที่มีชื่อปฏิบัติงานในพื้นที่ภาคใต้ แต่ไม่ได้ทำงานจริง ถือเป็นงบหล่อเลี้ยงกำลังพลที่ไม่ได้ทำงานในพื้นที่ ดังนั้น ขอให้กอ.รมน. ชี้แจงว่ามีคนทำงานจริงเท่าไร หรือเป็นเพียงงบที่ใช้หากินเท่านั้น” นายรอมฎอน กล่าว
นายรอมฎอน กล่าวว่า ยังพบว่ามีค่าตอบแทนพิเศษสำหรับผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ใน 52 หน่วยงาน รวมงบประมาณ 1,527 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้คนในพื้นที่ดำเนินการในส่วนดังกล่าวเอง ตนข้อเสนอไปยังรัฐบาลที่มีนโยบายด้านยุติธรรม ให้ฟื้นคดีตากใบ ที่อีก 10 เดือนจะหมดอายุความ โดยให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินการเป็นคดีพิเศษ รวมถึงให้นายกฯ กำชับไปยังกอ.รมน. ภาค4 ส่วนหน้า ให้ยุติการฟ้องร้องเพื่อปิดปาก เพื่อให้การเจรจาสันติภาพเกิดขึ้นได้จริง รวมถึงเปิดพื้นที่ทางการเมือง เจรจาหาทางออกร่วมกันระหว่างคนในพื้นที่ โดยไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก รวมถึงปรับลดงบประมาณที่ซ้ำซ้อนของกอ.รมน.
“ผมขอตั้งคำถามไปยัง กอ.รมน. รับมือกับภัยคุกคามความมั่นคง ทำให้จำเป็นต้องมีภัยคุกคามเพื่อให้องค์กรดำรงอยู่ หากทิศทางการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง กอ.รมน.ต้องสกัดขัดขวางเพื่อไม่ให้การแสวงหาทางออกทางการเมืองเป็นไปได้ ขอให้นายกรัฐมนตรีกำชับท่านแม่ทัพภาคที่ 4 สิ่งที่ท่านทำ บั่นทอนกระบวนการสันติภาพ ไบโพลาร์ เดี๋ยวอยากจะคุย เดี๋ยวก็อยากจะปิดปาก อันนี้ต้องเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีที่ต้องกำชับ ภายใต้เงื่อนไขงบประมาณนี้ ถ้านิติธรรมเข้มแข็งจริง เราอาจไม่ต้องใช้งบประมาณขนาดนี้” นายรอมฎอน กล่าว
จากนั้น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า ปัญหาของจังหวัดของ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นเรื่องของความมั่นคง ขณะนี้มีความรุนแรงน้อยลงจากความช่วยเหลือของทุกภาคส่วนและสส.ในพื้นที่ในการแก้ไขปัญหา รวมถึงกอ.รมน.มีจุดประสงค์เดียวกันเพื่อคืนความสงบให้ประชาชน ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นเรื่องที่ทุกคนให้ความสำคัญอยู่ในขณะนี้ และจากการลงพื้นที่ช่วงเดือนพ.ย. 66 ได้พบนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และหารือเกี่ยวกับความมั่นคง ปัญหาด้านเศรษฐกิจ การเชื่อมโยงการค้าระหว่างประเทศ โดยสร้างสะพานสุไหงโก-ลก และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และพัฒนาการเดินทางเข้าเมืองของทั้งสองฝ่าย หลังจากยกเว้นยื่นแบบ ตม.6 ด่านพรมแดนสะเดาเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 66 ทำให้นักท่องเที่ยวมาเลเซียเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ประมาณ 30,000 คน ส่งผลให้โรงแรมในพื้นที่เต็มเกือบหมด จึงเป็นการช่วยให้ประชาชนมีรายได้ดีขึ้นลดปัญหาความขัดแย้ง ควบคู่กับการทำงานด้านความมั่นคง
“ประเด็นที่ฝ่ายค้านถามถึงความใส่ใจในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ผมมองว่าเป็นความเห็นแต่ละบุคคล แต่เชื่อว่าสส.ทุกคนมีความใส่ใจเกี่ยวกับความสงบของชายแดนใต้ สำหรับรายละเอียดการอภิปรายเรื่องงบประมาณกอ.รมน.จะนำกลับไปพิจารณาและหารือ เพื่อใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผมเห็นด้วยที่กอ.รมน. ภาค 4 ใส่ใจช่วยเหลือ เยียวยาประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วม โดยได้หารือกับพล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผอ.รมน. ภาค 4 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนข้อกล่าวหาว่าท่านเป็นไบโพลาร์ ผมไม่ใช่แพทย์จึงไม่สามารถตอบได้ แต่จากการที่ได้สัมผัสเมื่อทำงานร่วมกัน เห็นว่าท่านยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายรอมฎอน ลุกขึ้นชี้แจงอีกครั้งกรณีอภิปรายเรื่องไบโพลาร์ ว่า ไม่ได้วิจารณ์เกี่ยวกับสุขภาพ แต่เป็นคำเปรียบเปรยการทำงานและการดำเนินนโยบายที่ไม่คงเส้นคงวาในภาคปฏิบัติ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย เป็นการพิจารณาในเชิงสถาบัน สุดท้ายขอฝากให้นายกรัฐมนตรีรับรองร่างพ.ร.บ. ยุบกอ.รมน. เพื่อกลับมาให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป.-318.-สำนักข่าวไทย