กรุงเทพฯ 22 มี.ค. – โครงการ “SPP Hybrid Firm” ลงนาม PPA 10 โครงการ รวม 159.73 เมกะวัตต์ อีก 7 รายรวม 140.27 เมกะวัตต์ ลงนามไม่ได้ตามเส้นตาย 22 มี.ค. จับตา ก.พลังงาน จะนำมาประกาศเป็นโครงการ รฟ.ขยายผลปริมาณเท่าใด
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษก คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ กกพ. ได้มีนโยบายเร่งรัดเพื่อสรุปผลการลงนามรับซื้อไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน พ.ศ. 2560 หรือโครงการ SPP Hybrid Firm ล่าสุด วันนี้ ( 22 มี.ค.) มีผู้ประกอบการภาคเอกชนจำนวน 10 รายสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมและสามารถทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวมปริมาณเสนอขายไฟฟ้า 159.73 เมกะวัตต์ และ มีเอกชนที่ไม่สามารถลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ 7 รายรวมปริมาณเสนอขายไฟฟ้ารวมกัน 140.27 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ จำนวนเอกชน 7 รายที่ไม่สามารลงนาม PPA พบว่ามี 2 รายปริมาณเสนอขายไฟฟ้ารวมกัน 43.00เมกะวัตต์ สามารถผ่านเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมแล้วแต่ไม่สามารถลงนาม PPA และจำนวน 5 รายปริมาณเสนอขายไฟฟ้ารวมกัน 97.27 เมกะวัตต์ที่ไม่สามารถผ่านเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อม
“ตัวเลขที่ไม่สามารถลงนามพีพีเอ 140.27 เมกะวัตต์ ทาง สำนักงาน กกพ. รอนโยบายของกระทรวงพลังงานว่า จะนำไปประกาศเป็นโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนรอบใหม่ เป็นส่วนของ โรงไฟฟ้าขยายผลหรือไม่ ในขณะที่ กกพ. ได้เน้นย้ำให้เอกชน ทั้ง 10 รายที่สามารถลงนาม PPA ได้แล้วเร่งดำเนินการขอใบอนุญาตที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการก่อสร้างและทดสอบเครื่องจักรให้สามารถ COD ได้ทันก่อนสิ้นปี 2565 เนื่องจากมีเวลาเหลืออีกไม่มากนัก” นายคมกฤช กล่าว
นายกวิน ทังสุพานิช เลขานุการรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงฯสนับสนุนนโยบายพลังงานทดแทน โดยเฉพาะในส่วนของโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกร ซึ่งที่ผ่านมาได้ประกาศโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่องไปแล้ว 150 เมกะวัตต์ ต่อไปก็จะประกาศในส่วนของโรงไฟฟ้าขยายผล จะพิจารณานำส่วนของ SPP Hybrid Firm ที่ลงนามสัญญาไฟฟ้าไม่ทันตามกำหนด และโครงการชีวมวลเดิมที่ลงนามสัญญากับภาครัฐไม่ได้ที่เกิดจากปัญหานโยบายรัฐที่ผ่านมา ส่วนปริมาณรับซื้อโดยรวมจะเป็นเท่าใด ก็ต้องดูภาพรวมทั้งหมดให้เหมาะสม
ทั้งนี้ ในการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ SPP Hybrid Firm พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา มีเอกชนได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ ทั้งสิ้น 17 ราย เสนอขายไฟฟ้าทั้งสิ้นรวม 300 เมกะวัตต์ กำหนด SCOD ภายในปี 2564 ตามเป้าหมาย ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กำหนดไว้ และต่อมาคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติให้ขยาย SCOD โดยกำหนดให้ COD ก่อนสิ้นปี 2565 ซึ่ง กกพ. ก็ได้ขยายกำหนดวันลงนาม PPA จากกำหนดการเดิมภายใน 13 ธันวาคม 2562 เป็นภายใน 22 มีนาคม 2564 เพื่อให้สอดคล้องกับมติ กบง. และสถานการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าว . – สำนักข่าวไทย