กรุงเทพฯ 22 มี.ค. – ธ.ก.ส. มุ่งสร้าง Social Safety Net สู่เกษตรกรและชุมชน โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ การวิจัยและนวัตกรรม การตลาด การดูแลด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมหนุนเกษตรกรและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เข้ามาเสริมความเข้มแข็งและการเติบโตในภาคชนบท เน้นการดูแลด้านภาระหนี้สินเกษตรกร
นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยถึงนโยบายการขับเคลื่อน ธ.ก.ส. ในฐานะผู้นำองค์กรว่า ยังคงมุ่งไปสู่วิสัยทัศน์ที่ธนาคารวางไว้คือเป็น “ธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน มุ่งสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชนบท” แต่จะปรับวิธีหรือกระบวนการทำงาน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นการดูแลเกษตรกรลูกค้าให้สามารถยืนอยู่ได้ อย่างมั่นคง ยั่งยืน ผ่านมาตรการสนับสนุนด้านสินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ (New Gen /Smart Farmer / Entrepreneur)) ที่มีทักษะความรู้ ความสามารถด้านเทคโนโลยี การบริหารจัดการด้านการตลาด ให้เข้ามาต่อยอดในการเพิ่มมูลค่าผลผลิต และสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน ขณะเดียวกันต้องเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรที่มีภาระหนักด้านหนี้สิน โดยกำหนดให้พนักงานสาขาเข้าไปพบลูกค้าทุกรายเพื่อตรวจสุขภาพหนี้และประเมินศักยภาพ (Loan Review) หากพบว่าลูกค้ายังมีศักยภาพ จะแนะนำให้ชำระหนี้ให้เสร็จสิ้น หรือชำระหนี้ให้สอดคล้องกับที่มาของรายได้ กรณีลูกค้าไม่มีศักยภาพ จะปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (Loan Management) ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูอาชีพให้กับลูกค้า เพื่อสร้างที่มาแห่งรายได้หรือเพิ่มเติมทุนใหม่ต่อไป
ด้านการขับเคลื่อนงานพัฒนาชนบท จะมุ่งสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน (Community Engagement) ให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ทางเศรษฐกิจ เน้นดูแลรักษาสุขภาพในครัวเรือนและชุมชน การรวมกลุ่มวิเคราะห์ปัญหา สร้างทางเลือกและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด มีการจัดการด้านการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การดำรงรักษาวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นและการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับชุมชน โดยเน้นความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค การเพิ่มมูลค่าผลผลิต และการบริหารจัดการทางการตลาด เช่น การเชื่อมโยงตลาด Social Commerce การส่งเสริมระบบการตรวจสอบย้อนกลับในสินค้าเกษตรอินทรีย์ตลอดห่วงโซ่คุณค่าบนระบบ Blockchain การพัฒนาสินค้าเกษตรสู่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมาตรฐาน การส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร และส่งเสริมกิจกรรมการลดก๊าซเรือนกระจกให้กับชุมชนธนาคารต้นไม้ของ ธ.ก.ส. รวมถึงสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่เข้าไปสร้างองค์ความรู้ เพื่อต่อยอดผลผลิต สร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชน เป็นต้น ทั้งนี้ โครงการที่ดำเนินการถือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Social Safety Net) ที่จะเข้าไปดูแลและสร้างภูมิคุ้มกันให้เกษตรกรและชุมชนมีความเข้มแข็งและเติบโตอย่างมี
นอกจากนี้ สร้างการเปลี่ยนแปลงโดยการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการดำเนินงานของธนาคาร (Digital Workplace) การนำ Fin Tech มาใช้ผ่าน Digital Banking เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ทันสมัย รวดเร็ว สะดวกสบาย ช่วยลดต้นทุนและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า เช่น การรับชำระเงินด้วย QR Code ผ่าน Alipay ผ่านแอปพลิเคชั่นร้านน้องหอมจัง ซึ่งเป็นการเชื่อมระบบการชำระเงินกับต่างประเทศ ช่วยอำนวยความสะดวกในการชำระเงินให้กับลูกค้า โครงการ ATM White Label ระบบเอทีเอ็มกลางที่รับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของทุกธนาคาร ช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างสะดวกและไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการใช้บริการตู้เอทีเอ็มระหว่างธนาคารหรือข้ามเขต การสร้างเครือข่ายทางการเงิน (Banking Agent) ร่วมกับเคาน์เตอร์เซอร์วิส ไปรษณีย์ไทย ตู้บุญเติมและตู้เติมสบาย เพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือกในการทำธุรกรรมกับ ธ.ก.ส. มากยิ่งขึ้น รวมถึงการบริหารจัดการข้อมูล (Data Governance) เพื่อรองรับการดำเนินงานและสร้างโอกาสการแข่งขัน การเชื่อมโยงกับผู้ให้บริการอื่น (open API) และที่สำคัญคือการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะและความสามารถตรงกับงานที่รับผิดชอบ โดยปรับปรุงกระบวนการทำงาน เพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการและให้บริการ พร้อมทั้งลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน
นายธนารัตน์ กล่าวอีกว่า ในช่วงปี 2563 ถึงปัจจุบัน ประเทศไทยและทั่วโลกประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งในส่วนของ ธ.ก.ส. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้า เช่น การพักหนี้ทั้งระบบ จำนวน 3.25 ล้านราย ต้นเงินประมาณ 1.07 ล้านล้านบาท การเติมวงเงินสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และเสริมสภาพคล่อง ซึ่งช่วยบรรเทาความเดือดร้อน กระตุ้นการใช้จ่าย การลงทุน ทำให้ระบบเศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียน เช่น เงินกู้ฉุกเฉิน ที่ไม่ต้องใช้หลักประกันวงเงิน 20,000 ล้านบาท สินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิด สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ สินเชื่อเพื่อฤดูการผลิตใหม่ วงเงินรวม 170,000 ล้านบาท จัดทำโครงการชำระดีมีคืนและโครงการลดภาระ ซึ่งทั้ง 2 โครงการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องดอกเบี้ย โดยสามารถคืนเงินเข้าสู่กระเป๋าเกษตรกร กว่า 1.6 ล้านราย วงเงินกว่า 3,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการส่งมอบเงินและความช่วยเหลือไปยังเกษตรกรและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 เช่น การจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกร 5,000 บาทเป็นระยะเวลา 3 เดือน ผู้พิทักษ์สิทธิ์ เราไม่ทิ้งกัน การจ่ายเงินตามโครงการประกันรายได้ 5 พืชเศรษฐกิจหลัก เป็นต้น
จากสถานการณ์ข้างต้น ส่งต่อผลการดำเนินงานในปีบัญชี 2563 ของ ธ.ก.ส. ซึ่งจะครบปีในวันที่ 31 มีนาคม 2564 ซึ่งข้อมูลคาดการณ์เบื้องต้น ธ.ก.ส. จะมีสินทรัพย์จำนวน 2,039,144 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 4.10 เงินให้สินเชื่อจำนวน 1,572,376 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 4.90 หนี้สินจำนวน 1,892,612 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.94 เงินรับฝาก 1,730,272 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 3.41 ส่วนของเจ้าของ 146,532 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 6.19 โดยมีรายได้จำนวน 103,171 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายจำนวน 95,987 ล้านบาท กำไรสุทธิจำนวน 7,184 ล้านบาท อัตราส่วน ROA ร้อยละ 0.36 NIM ร้อยละ 3.09 Cost to income 32.25 BIS ratio 11.99 และ NPLs/Loan ratio 3.57 ทั้งนี้ ในปีบัญชี 2564 (1 เมษายน 2564 – 31 มีนาคม 2565) วางเป้าหมายสินเชื่อเติบโตเพิ่มขึ้น 69,000 ล้านบาท เงินฝากเติบโตเพิ่มขึ้น 25,000 ล้านบาท . – สำนักข่าวไทย