กรุงเทพฯ 4 มี.ค.-“”สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์”สั่ง กฟผ.โปรโมตเตาแม่เหล็กไฟฟ้าหวังลดชดเชยแอลพีจี และศึกษาแผน ทำราคา รถจักรยานยนต์อีวีให้ถูกลง เป็นหนึ่งในเจตนารมณ์การจัดการพลังงาน คุณภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อม “Breathe our Future” 5 หน่วยงาน รวมพลังเพื่อลมหายใจแห่งอนาคต
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในระหว่างเป็นประธานในพิธีประกาศเจตนารมณ์การจัดการพลังงาน คุณภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อม “Breathe our Future รวมพลังเพื่อลมหายใจแห่งอนาคต” ว่า รัฐบาลได้กำหนดให้การลดฝุ่น PM2.5 เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งดำเนินการในหลายเรื่อง และในแผนพลังงานชาติที่กระทรวงพลังงานกำลังดำเนินการ ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ รวมถึงเรื่องการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ในอนาคตว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งมีผู้เสนอในเรื่องการลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ส่งเสริมพลังงานทดแทน การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี ) จักรยานยนต์ไฟฟ้า
นายสุพัฒนพงษ์ ได้สั่งการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งมีการพัฒนารถจักรยานยนต์อีวีราคาประมาณ 80,000 บาท /คัน ศึกษาเรื่องการแยกจำหน่ายระหว่างแบตเตอรี่ และตัวรถ เพื่อให้ราคาสามารถแข่งขันได้กับรถน้ำมัน โดยแบตเตอรี่ อาจเป็นทั้งระบบเช่าหรือขาย ให้ผู้ใช้นำแบตมาเปลี่ยนได้ ส่วนเรื่องเครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ 5 เป็นส่วนที่ช่วยประหยัดพลังงาน ก็ควรจะดูส่งเสริมถึงเรื่องการใช้เตาแม่เหล็กไฟฟ้า ว่าจะทำอย่างไรให้มีการใช้เพิ่มขึ้น ทดแทนการใช้ก๊าซหุงต้ม หรือแอลพีจี เพื่อลดวงเงิน อุดหนุน จากที่ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนกว่า 10,000 ล้านบาท
นายสุพัฒนพงษ์ ยังกล่าวถึงโครงการโซลาร์ฟาร์มกองทัพบก 30,000 เมกะวัตต์ และ โครงการในอีอีซีโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 500 เมกะวัตต์ ว่า เป็นความปรารถนาดี ของหน่วยงานต่างๆที่ร่วมเสนอโครงการ ส่วนจะมีการพัฒนาจริงได้มากน้อยเพียงใด จะนำมาอยู่ในแผนพลังงานชาติหรือไม่ จะต้องรอผลการศึกษาต่อไป โดยที่ผ่านมายอมรับว่าผลกระทบเศรษฐกิจจากโควิด-19 ก็ทำให้สำรองไฟฟ้าสูงกว่าเกณฑ์ที่ควรจะเป็นที่ร้อยละ 15-20 แต่จากนี้ไปเศรษฐกิจดีขึ้น การพัฒนาระบบรางและยานยนต์อีวี คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น และจะต้องเตรียมแผนรองรับให้เพียงพอ
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ร่วมกับ กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA GISTDA จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กฟผ. ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์รวมพลังเพื่อลมหายใจแห่งอนาคต ในการจัดการพลังงาน คุณภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อม พร้อมชวนคนไทยร่วมกันสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีและอากาศบริสุทธิ์
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.จะต่อยอดการดำเนินงานเรื่องการสร้างอากาศบริสุทธิ์ ร่วมกับภาคีเครือข่ายให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นภายใต้แนวคิด EGAT Air TIME ประกอบด้วย
– T (Tree) การเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อเพิ่มการดูดซับอากาศเสีย สร้างอากาศบริสุทธิ์ ผ่านโครงการปลูกป่า สร้างฝาย รวมไปถึงการดำเนินงานจิตอาสาป้องกันไฟป่า ลดการเผาป่า
– I (Innovation) การพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมการจัดการคุณภาพอากาศ ส่งเสริมเทคโนโลยีด้านการผลิตและใช้พลังงานสะอาด อาทิ โครงการโซลาร์ลอยน้ำ ยานยนต์ไฟฟ้า
– M (Monitoring) ระบบตรวจวัดและแสดงผลคุณภาพอากาศด้วยแอปพลิเคชันรูปแบบต่างๆ เพื่อให้คนรู้และตระหนักนำไปสู่การปรับพฤติกรรม ด้วยการติดตั้งจุดตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ชุมชนรอบ กฟผ. และเครือข่ายห้องเรียนสีเขียว
– E (Education & Engagement) การส่งเสริมองค์ความรู้ สร้างทัศนคติในการจัดการพลังงาน คุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการห้องเรียนสีเขียว ศูนย์เรียนรู้ กฟผ. รวมทั้งจัดกิจกรรมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน
โดยในปี 2564 กฟผ. มีแผนการติดตั้งจุดตรวจวัดฝุ่นละอองจำนวน 200 จุด ในพื้นที่ชุมชนรอบโรงไฟฟ้า เขตเขื่อนของกฟผ. เครือข่ายห้องเรียนสีเขียว และสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พร้อมทั้งจัดกิจกรรมชาเลนจ์ “EGATลดละรอดปลอดฝุ่น”ชวนคนไทยแชร์ไอเดียลดฝุ่น พร้อมติดแฮชแท็ก #EGATลดละรอดปลอดฝุ่น #รวมพลังเพื่อลมหายใจแห่งอนาคต #EGATforALL ตั้งแต่ 12 – 30 มีนาคม 2564 ผ่านช่องทาง Facebook และ Instagram พร้อมส่งคำท้าไปยังเพื่อนอีก 5 คน เพื่อรวมพลังคนไทยร่วมรณรงค์สร้างอากาศบริสุทธิ์ด้วยกัน
นายสุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้นำองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคมเพื่อความยั่งยืน โดยจะร่วมศึกษาออกแบบและพัฒนาแบบจำลองการวิเคราะห์และการคาดการณ์ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM-2.5) รวมถึงประยุกต์ใช้ข้อมูลและการคาดการณ์ฝุ่น PM-2.5 ร่วมกับข้อมูลดาวเทียม เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ และเทคโนโลยี Machine Learning ตลอดจนเชื่อมโยงข้อมูลปริมาณฝุ่นละอองและคุณภาพอากาศเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลเปิด (open data) การแสดงผลผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน เพื่อรายงานผลคุณภาพอากาศและการแจ้งเตือนอัตโนมัติกรณีเข้าพื้นที่ที่คุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐาน-สำนักข่าวไทย