สหรัฐ 19 ก.พ. – นาทีประวัติศาสตร์! ยานสำรวจดาวอังคารขององค์การนาซา ประสบความสำเร็จลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคาร เพื่อสำรวจหาร่องรอยสิ่งมีชีวิต เมื่อ 3,000 ล้านปีก่อน
ลงสู่พื้นผิวดาวอังคารได้สำเร็จ สำหรับภารกิจแรกในประวัติศาสตร์ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ (นาซา) ในการนำยานเพอร์เซเวียแรนซ์ เพื่อเก็บตัวอย่างดินและหินจากดาวอังคารกลับมายังโลก โดยหลังใช้เวลาเดินทางจากโลกนานกว่า 7 เดือน ข้ามห้วงอวกาศเป็นระยะทาง 470 ล้านกิโลเมตร ในที่สุด ยานเพอร์เซเวียแรนซ์ (Perseverance) ยานสำรวจ 6 ล้อ ขนาดเท่ารถเอสยูวี ก็ลงสู่พื้นผิวดาวอังคาร เมื่อเวลา 03.55 น. วันนี้ (19 ก.พ.) ตามเวลาในไทย นับเป็นภารกิจที่ทำได้ยากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของวงการสำรวจอวกาศ เนื่องจากยานต้องนำส่งหุ่นยนต์ลงจอดภายในแอ่งหลุมอุกกาบาตเยเซโร ที่มีความกว้าง 45 กิโลเมตร ซึ่งนาซาได้นำเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดมาใช้ในภารกิจ เพื่อให้นำหุ่นยนต์ตระเวนสำรวจลงแตะพื้นดาวอังคารได้อย่างปลอดภัยและแม่นยำ ตรงตำแหน่งที่ต้องการ
เป้าหมายหลักของภารกิจที่ใช้เวลา 2 ปี และมีมูลค่า 2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐครั้งนี้ คือ เพื่อค้นหาสัญญาณสิ่งมีชีวิต ซึ่งอาจเจริญเติบโตได้ดีบนดาวอังคาร เมื่อ 3,000 ล้านปีก่อน ซึ่งในขณะนั้นดาวอังคารมีสภาพอากาศอุ่นกว่า ชื้นมากกว่า และเหมาะสมกับสิ่งมีชีวิตมากกว่า ทั้งนี้ ยานเพอร์เซเวียแรนซ์ ที่องค์การนาซาใช้สำรวจดาวอังคารในครั้งนี้ มีขนาดใหญ่และซับซ้อนกว่ายานอื่นๆ ที่เคยลงจอดบนดาวอังคารก่อนหน้านี้ และออกแบบมาเพื่อเก็บตัวอย่างหินนำกลับไปวิเคราะห์ยังโลกเป็นครั้งแรก คาดว่าภารกิจร่วมของนาซาและองค์การอวกาศยุโรป ซึ่งน่าจะมีขึ้นในปี 2026 อาจส่งจรวดไปรับตัวอย่างดินและหินจากดาวอังคาร กลับมายังโลกได้ในปี 2031. – สำนักข่าวไทย