กรุงเทพฯ 15 ก.พ.- SPCG -จับมือ PEA ENCOM เดินหน้าธุรกิจระบบกักเก็บพลังงาน คุยเป็นผู้ใช้งานจริงเชิงพาณิชย์รายแรก ตามแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 500 เมกะวัตต์ ในเขต EEC เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) (SPCG) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ นายเขมรัตน์ ศาสตร์ปรีชา รักษาการ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด (PEA ENCOM) และบริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด (SET Energy) เพื่อศึกษา พัฒนา วิจัย และลงทุนระบบกักเก็บพลังงาน เพื่อการบริหารจัดการพลังงาน สําหรับโครงการจัดหาพลังงานไฟฟ้าพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) และ พลังงานสํารอง (ระบบกักเก็บพลังงาน:ESS) เพื่อใช้ในเขตพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
นายเขมรัตน์ กล่าวว่า โครงการ ดังกล่าว อยู่ในแผนความร่วมมือ โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) สำหรับใช้ในพื้นที่เมืองใหม่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กำลังผลิตไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2569 มูลค่าลงทุนรวมทั้งโครงการไม่เกิน 23,000 ล้านบาท นับเป็น โครงการเชิงพาณิชย์ รายแรกที่นำ ESS มาใช้เสริมระบบ ลดพีกหรือความต้องการสูงสุด ซึ่งใน 2 เดือนข้างหน้า ก็คงมีความชัดเจน ว่า จะเลือกเทคโนโลยี ของประเทศ ใด ซึ่ง ดูทั้งหมด เช่น จากจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเยอรมัน ในขณะที่ ในไตรมาส 3/64 โครงการโซลาร์ฟาร์มแห่งแรก 15 เมกะวัตต์ ก็จะเริ่มก่อสร้าง
นางวันดี เปิดเผยว่าโครงการโซลาร์ฟาร์ม ในอีอีซีจะเห็นในปี 2564 ราว 300 เมกะวัตต์ ควบคู่กับการลงทุน ESS โดยวัตถุประสงค์ในการร่วมกัน ศึกษา วิจัย พัฒนา และลงทุนระบบกักเก็บพลังงาน เพื่อใช้ในอีอีซีรวมทั้งในพื้นที่ส่วนขยายในระยะต่อๆ ไป ตามนโยบายของรัฐบาล เป็นส่วนหนึ่งใน ในการขับเคลื่อนให้พื้นที่ EEC ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) เป็นเมืองพลังงานสะอาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และก้าวเข้าสู่สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) สอดคล้องกับบริบทโลกปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกและช่วยลดภาวะโลกร้อน
นางวันดี คาดว่า ปี 2564 จะมีรายได้ราว 5 พันล้านบาท ใกล้เคียงปี 2563 หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19ระลอกใหม่ ทำให้โครงการใหม่ๆล่าช้าออกไป เช่น โซลาร์รูฟท็อปภาคเอกชนที่เดิมผู้ประกอบการลงนามในสัญญาเพื่อเตรียมพร้อมลงทุนแล้ว 20-30 เมกะวัตต์ แต่เมื่อเจอพิษโควิด กลุ่มโรงงานก็ขอชะลอโครงการออกไปก่อนอย่างไรก็ตาม โครงการนี้ช่วยลดต้นทุนได้ค่าไฟฟ้า ได้ผลตอบแทนการลงทุนถึงร้อยละ 18 และคุ้มทุนใน 7-8 ปี ดังนั้นทางบริษัทจึงเสนอทางเลือกให้ลูกค้าเป็นระบบลิสซิ่งหรือเช่าซื้อระยะยาว ก็ทำให้ กลุ่มโรงงานเอกชน ให้ความสนใจที่จะลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เพิ่มขึ้น บริษัท จึงมั่นใจว่า อีก 3 ปีข้างหน้า จะมีลูกค้าโซลาร์รูฟท็อป เพิ่มอีกราว นับร้อยเมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีลูกค้าแล้วนับร้อบยเมกะวัตต์ และสร้างรายได้รวม 5 ปีที่ผ่านมาราว 7-8 พันล้านบาท
“ยอมรับว่า โควิด-19 กระทบต่อโครงการลงทุนใหม่ๆ ที่จะสร้างรายได้เพิ่ม ในฐานะซีอีโอบริษัท เมื่อหากรายได้ เพิ่มได้ยาก ก็ได้ลดรายจ่ายปี 63 ลดไปแล้ว 100 ล้านบาท ปี 64 จะลดเพิ่มอีก 200 ล้านบาท ไม่มีแผนปลดคน แต่หากพนักงาน ไปในพื้นที่เสี่ยง โดยไม่จำเป็น และติดโควิด ก็ได้ประกาศแล้วว่าจะให้ออกจากงาน นับเป็นการช่วยระแวดระวังการป้องกันโควิดของประเทศ”
ทั้งนี้โครงการโซลาร์ฟาร์ม 500 เมกะวัตต์ในอีอีซี ดำเนินการภายใต้การดำเนินการลงทุนของบริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด (SET Energy) มีผู้ถือหุ้นประกอบด้วย SPCG สัดส่วน 80%, และบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) ในเครือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ถือหุ้น 20% -สำนักข่าวไทย