กรุงเทพฯ 15 ก.พ.-อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ยืนยันน้ำบาดาลซึ่งสูบได้ที่ อ. ห้วยกระเจา และเลาขวัญ จ.กาญจนบุรี มีแร่ธาตุหลายชนิด มากกว่าน้ำแร่ที่จำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ และปลอดภัย
นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลกล่าวว่า ได้นำน้ำจากการสูบทดสอบปริมาณนํ้าบาดาลที่ ต.ห้วยกระเจา อ. ห้วยกระเจา และ อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี ซึ่งสูบขึ้นมาได้เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ พบว่าไม่มีสารพิษปนเปื้อน แต่มีแร่ธาตุหลายชนิดมากกว่าน้ำแร่ที่ผลิตจำหน่ายในท้องตลาดทั้งของไทยและต่างประเทศ โดยแร่ธาตุบางชนิดมีปริมาณมากกว่าที่ร่างกายต้องการ ซึ่งบางชนิดร่างกายขับออกเองได้และบางชนิดขับออกไม่ได้ จึงจะจัดหาเครื่องกรองน้ำสำหรับกรองแร่ธาตุส่วนเกินออก เพื่อให้ชาวบ้านนำน้ำไปใช้ดื่มได้อย่างปลอดภัย ในอนาคตอาจก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำแร่ขึ้นมาซึ่งจะทำให้บริเวณนี้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญได้ ขณะนี้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจัดทำแนวเขตแหล่งน้ำบาล โดยจะออกประกาศกรมฯ เป็นพื้นที่ควบคุมเพื่อจัดระเบียบการใช้น้ำ
ทั้งนี้ นักวิชาการของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลคำนวณปริมาตรน้ำจากบ่อบาดาลทั้ง 2 บ่อพบว่า มีน้ำออกมาประมาณ 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ขณะนี้กำลังติดตามว่า แรงดันและปริมาณน้ำจะลดลงหรือไม่ บ่อน้ำบาดาลที่บ้านทุ่งคูณ บ่อที่ 1 และบ่อที่ 2 น้ำบาดาลมีฟลูออไรด์สูงเล็กน้อย 1.4 มิลลิกรัมต่อลิตร และ 1.1 มิลลิกรัมต่อลิตรซึ่งใกล้เคียงกับน้ำแร่ต่างประเทศ มีเหล็กสูง 10 มิลลิกรัมต่อลิตร และ 28 มิลลิกรัมต่อลิตรซึ่งเป็นปกติตามธรรมชาติ แต่มีไบคาร์บอเนตสูง 2,420 มิลลิกรัมต่อลิตร และ 1,870 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งมากกว่า 2 เท่าของน้ำแร่ในต่างประเทศ โดยไบคาร์บอเนตจะเปลี่ยนเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ทำให้เกิดความซ่า อีกทั้งยังเป็นตัวทำละลายธาตุเหล็กจึงทำให้เมื่อตั้งน้ำทิ้งไว้น้ำจะขุ่น
อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลกล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบปริมาณน้ำบาดาลทั้งสองบ่อ คาดว่าจะสามารถพัฒนาน้ำขึ้นมาใช้ได้ไม่น้อยกว่า 2,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือไม่น้อยกว่า 500,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี เป้าหมายตามภารกิจของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล คือ การจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งท้ายที่สุดพื้นที่ห้วยกระเจา กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะทำโครงการศึกษา สำรวจ และพัฒนาน้ำบาดาลจากแหล่งกักเก็บในหินแข็งระดับลึกในพื้นที่ธรณีวิทยาโครงสร้างซับซ้อน เพื่อพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาให้ประชาชนได้ใช้ในการอุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตร โดยเร่งเจาะอีก 3 บ่อ เพื่อให้ครบทั้ง 6 บ่อ ซึ่งจะพัฒนาให้เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สุดอีกแห่งหนึ่งของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล
จากนั้นอธิบดีฯกรมทรัพยากรน้ำบาลดาลได้ทดลองดื่มน้ำที่ผ่านการกรองแล้ว พบว่าน้ำดังกล่าวมีความใสสะอาดขึ้น แต่ยังคงรสหวานและไม่มีกลิ่นสนิมเหล็กแต่อย่างใด. -สำนักข่าวไทย