อุตรดิตถ์ 1 ก.พ.- ชาวบ้าน ต.ด่านแม่คำมัน พลิกวิกฤติแล้ง หารายได้เสริมจากการดักกุ้งฝอยในแหล่งน้ำธรรมชาติบึงมาย ด้วยการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นประยุกต์กับขวดน้ำพลาสติกที่ใช้แล้ว ทำตุ้มปากขวดใช้ดักกุ้งฝอย หรือกุ้งเต้น
ที่บึงมาย หนองน้ำสาธารณะขนาดใหญ่ บริเวณหมู่ 5 ต.ด่านแม่คำมัน อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ หลังจาก อบต.ด่านแม่คำมัน ประสานและบูรณาการส่วนราชการจัดงบประมาณทำแก้มลิง เพื่อเก็บกักน้ำฝนให้เกษตรกรได้มีน้ำใช้ช่วงหน้าแล้ง ส่งผลดีทั้งภาคการเกษตร และการฟื้นตัวของระบบนิเวศทางน้ำโดยเฉพาะกุ้ง หอย ปู ปลา น้ำจืด ทำให้แล้งปีนี้ ชาวบ้านทั้งตำบลด่านแม่คำมัน และใกล้เคียง มีรายได้เสริมจากการจับสัตว์น้ำจืดนานาชนิด ขายสดและแปรรูปขาย มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ ช่วงลดพื้นที่ทำนาปรัง และสู้ภัยโควิด-19
นายเวช อ่อนวงษ์ นายก อบต.ด่านแม่คำมัน อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า ชาวบ้านตำบลด่านแม่คำมัน ต่างพลิกวิกฤติเป็นโอกาส จากแหล่งน้ำบึงมายด้วยการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นประยุกต์กับขวดน้ำพลาสติกที่ใช้แล้ว เพื่อทำตุ้มปากขวด ใช้ดักกุ้งฝอย หรือกุ้งเต้น ด้วยลูกเหยื่อที่ปั้นเอง จากอาหารปลาผสมกับน้ำปลาที่ชาวบ้านหมักกันเอง ทั้งนี้ ส่วนตุ้มที่ประดิษฐ์ จากไม้ไผ่ ตาข่ายไนล่อน และปากขวดน้ำดื่มที่ใช้แล้ว เป็นอุปกรณ์ดักจับกุ้งฝอยรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส
วิธีการวางตุ้มเพื่อดักกุ้ง จะผูกตุ้มกับหลักหรือไม้ไผ่ แล้วตระเวนปักตามบึงมาย ระยะห่างแต่ละหลักประมาณ 5 เมตร ทิ้งไว้ 1 คืน เช้าๆ ตะพายเรือเก็บตุ้ม พบว่ากุ้งฝอยที่ได้กลิ่นหอมของลูกเหยื่อ จึงหลงเข้าไปในตุ้มทางปากขวดและออกไม่ได้ จึงทำให้ชาวบ้านดักกุ้งเต้น หรือกุ้งฝอยแบบสดเป็นจำนวนมาก ได้วันละ 5 กิโลกรัม โดยจะมีพ่อค้าแม่ค้ามารอรับซื้อถึงบึงมาย กิโลกรัมละ 200 บาท มีรายได้มากถึงวันละ 1,000 บาท เป็นวิถีชีวิตชาวบ้าน ซึ่งทั่วบึงมายจะเห็นมีไม้ไผ่ปักเป็นแถวยาว โดยเฉพาะบ้านจะจัดสรรและตกลงกันเองว่าจุดไหนใครจับจอง
ทั้งนี้ กุ้งเต้น หรือกุ้งฝอยสดๆ ยังนำมาทำเมนูเด็ดๆ ในครัวเรือน ทั้ง กุ้งโคโยตี้ หรือพล่ากุ้ง ลาบกุ้งหรือป่นกุ้ง เคล็ดลับต้องใส่มะกอกเพิ่มความแซ่บ 3 รส คือ เผ็ด เปรี้ยว หวาน หรือจะนำมาทำ กุ้งจ่อม กุ้งตากแห้ง ถนอมอาหารไว้กินนานๆ เป็นเมนูที่ถือว่าเด็ดในช่วงหน้าแล้ง.-สำนักข่าวไทย