ปทุมธานี 9 ม.ค. – ตำรวจพิสูจน์หลักฐานสอบมาราธอน “ลุงพล-ป้าแต๋น” เกือบ 11 ชั่วโมง คดีน้องชมพู่เสียชีวิตปริศนา พร้อมเปิดใจ หลักฐานข้อมูลขึ้นอยู่กับตำรวจ และยังยืนยันคำเดิม ต้องการให้คนที่ทำกับหลานออกมารับผิดชอบ
ผ่านมาถึง 8 เดือน สำหรับคดีการเสียชีวิตของน้องชมพู่ เด็กหญิงอายุ 3 ขวบ ที่หายตัวไปจากหมู่บ้านกกกอก ต.กกตูม อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร วันที่ 11 พฤษภาคม 2563 ก่อนพบกลายเป็นศพบนภูเหล็กไฟ ห่างจากบ้านประมาณ 2 กิโลเมตร ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้ระบุว่าจากข้อมูลพยานหลักฐานพบว่าน้องชมพู่ไม่สามารถเดินขึ้นไปบนจุดพบศพบนภูเหล็กไฟได้ด้วยตนเอง โดยมีเหตุผล 8 ข้อชี้ให้เห็น แต่จนถึงขณะนี้ตำรวจยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะออกหมายจับหรือดำเนินคดีกับใครได้ แต่จะยังคงสืบสวนต่อไปโดยไม่มีการปิดคดี
ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่เคยพาครอบครัวน้องชมพู่มาเข้าเครื่องจับเท็จแล้ว โดยทยอยเข้าสอบปากคำ ประกอบด้วย พ่อแม่น้องชมพู่ น้องสะดิ้ง น้าต่าย น้าเสริม น้าแต น้าฝน รวม 7 คน โดยทยอยสอบปากคำตั้งแต่วันที่ 4-7 มกราคมที่ผ่านมา
และเมื่อวานนี้ (8 ม.ค.) ถึงคิวของนายไชย์พล วิภา หรือ “ลุงพล” และนางสมพร หลาบโพธิ์ หรือ “ป้าแต๋น” 2 สามีภรรยา โดยตำรวจศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1 ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี นำรถตู้ไปรับตัวมาสอบปากคำเพิ่มเติม ด้วยการเข้าเครื่องจับเท็จ ที่กองพิสูจน์หลักฐานตำรวจภูธรภาค 1 จ.ปทุมธานี เพื่อคลี่คลายคดีการเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาของน้องชมพู่ อายุ 3 ขวบ
ทันทีที่มาถึง ตำรวจพาทั้งสองคนเข้าไปในตัวอาคารทันที เพื่อหลบเลี่ยงสื่อมวลชนที่มาปักหลักรอทำข่าวกันที่หน้าอาคารจำนวนมาก กระบวนการเข้าเครื่องจับเท็จ เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงเวลา 10.30 น. โดยมีนักจิตวิทยาร่วมสอบปากคำด้วย เพื่อสังเกตอากัปกิริยาท่าทางต่างๆ ในการตอบคำถามของทั้ง 2 คน รวมทั้งใช้เครื่องมือในการตรวจวัดชีพจร หรือเครื่องจับเท็จ ซึ่งเป็นหนึ่งในขั้นตอนของกฎหมาย การเข้าเครื่องจับเท็จจะไม่ใช่จุดตัดสินหรือชี้ขาดว่าใครเป็นคนผิดในคดีน้องชมพู่ แต่สามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งประกอบสำนวนคดีได้ โดยใช้เวลานานเกือบ 11 ชั่วโมง
บรรยากาศการเข้าเครื่องจับเท็จของลุงพล-ป้าแต๋น เป็นไปด้วยดี ไม่มีใครที่มีอาการเครียด หรือเจ็บป่วย สำหรับการทำงานของเครื่องจับเท็จ จะเริ่มจาก การซักถามประวัติของบุคคล ก่อนจะอ่านคำถามในการเข้าเครื่องจับเท็จให้ฟัง พร้อมกับสร้างความคุ้นเคยของทั้ง 2 ฝ่าย คือผู้เชี่ยวชาญกับผู้ที่เข้าเครื่องจับเท็จ
ลุงพล เปิดใจว่า หลักฐานข้อมูลขึ้นอยู่กับตำรวจ และยังยืนยันคำเดิมสิ่งที่ตนเองพยายามทำมาโดยตลอด คือต้องการให้คนที่ทำกับหลานออกมารับผิดชอบในเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะทำได้กับเด็กอายุแค่ 3 ขวบ ตนในฐานะที่เป็นลุงรับไม่ได้ทุกครั้งที่พูดถึงหลาน เสียใจทุกครั้งที่นึกถึงภาพของหลานที่เสียชีวิต ไม่ได้หนักใจอะไรกับการเข้าเครื่องจับเท็จ เพราะเป็นวิธีการตามขั้นตอนของตำรวจที่พยายามให้ความยุติธรรมกับทุกคน หลังจากนี้จะเดินทางกลับบ้าน ซึ่งเจ้าหน้าที่กองอำนวยความสะดวกมีที่พักให้ด้วย คนที่ทำผิดเท่านั้นจะต้องออกมารับผิด ไม่ใช่อยู่ๆ ไปจับคนโน้นคนนี้มามันก็คงไม่ใช่ ซึ่งตนเองเชื่อว่าเจ้าหน้าที่คงไม่ทำอย่างนั้น
ด้านนายเจริญ มีพองแสน ที่ขับรถพาลุงพลและป้าแต๋นมาเข้าเครื่องจับเท็จเล่าว่า ตลอดการเดินทางทั้ง 2 คนไม่มีท่าทีกังวลอะไร เพราะยังมั่นใจว่าไม่ใช่คนกระทำผิด
ด้าน พล.ต.ต.สันติ์ สุขวัจน์ รองผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐาน เปิดเผยถึงการนำลุงพล – ป้าแต๋น เข้าเครื่องจับเท็จ ว่าเป็นหนึ่งในกระบวนการสอบสวน และเป็นส่วนหนึ่งของหลักฐานที่จะใช้ประกอบสำนวนคดีนี้ แต่ไม่ใช่การชี้ขาดว่าใครคือคนร้ายฆาตกรรมน้องชมพู่ ส่วนสาเหตุที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนเชิญคนในครอบครัวของน้องชมพู่ รวมถึงลุงพลกับป้าแต๋น ให้มาเข้าเครื่องจับเท็จ เนื่องจากเห็นว่าเป็นบุคคลใกล้ชิดที่สามารถเข้าถึงตัวน้องชมพู่ได้ง่าย โดยที่เด็กไม่ร้องหรือต่อต้าน แต่ไม่ได้หมายความว่าบุคคลเหล่านี้คือคนร้าย หรือผู้ต้องสงสัยในคดี
การเข้าเครื่องจับเท็จ เจ้าหน้าที่ได้เชิญป้าแต๋น เข้าสู่กระบวนการก่อนเมื่อเวลา 11.00 น. แล้วเสร็จในเวลา 15.00 น. รวมระยะเวลา 4 ชั่วโมง ส่วนลุงพล เข้าเครื่องจับเท็จตั้งแต่ 15.00 น. ถึง 18.30 น.
กระบวนการเข้าเครื่องจับเท็จที่ผ่านมา ตำรวจได้ใช้ประกอบสำนวนคดีสำคัญมาแล้วหลายคดี เช่น คดีเสริม สาครราช ฆาตกรรมแฟนสาว และคดีหมอวิสุทธิ์ ฆาตกรรม พญ.ผัสพร โดยผลจากการเข้าเครื่องจับเท็จของทั้ง 2 คดี ที่มีการจับปฏิกิริยาของร่างกายในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญทำการซักถาม เป็นหลักฐานส่วนหนึ่งที่ศาลรับฟังจนนำไปสู่การพิจารณาคดี
สำหรับการทำงานของเครื่องจับเท็จ จะเริ่มจากการซักถามประวัติของบุคคล ก่อนจะอ่านคำถามในการเข้าเครื่องจับเท็จให้ฟัง พร้อมกับสร้างความคุ้นเคยของทั้ง 2 ฝ่าย คือผู้เชี่ยวชาญกับผู้ที่เข้าเครื่องจับเท็จ ซึ่งในครั้งนี้คือลุงพลกับป้าแต๋น หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ติดตั้งอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ทางการแพทย์เพื่อวัดคลื่นหัวใจและความดัน
ขั้นตอนนี้ถ้าหากโกหก แม้ร่างกายภายนอกจะดูปกติ แต่ปฏิกิริยาภายในจะแสดงมาในรูปแบบกราฟ จากนั้นผู้เชี่ยวชาญก็จะนำกราฟวิเคราะห์ ก่อนสรุปผลส่งให้พนักงานสอบสวนภายใน 30 วัน เพื่อประกอบในสำนวนคดี ส่วนศาลจะรับฟังหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจ
ด้าน พล.ต.ต.สันติ์ สุขวัจน์ รองผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐาน ยืนยันว่าเครื่องจับเท็จที่นำมาใช้กับลุงพล – ป้าแต๋น มีมาตรฐานสากล เพราะเป็นแบบเดียวกันกับที่สหรัฐใช้ ซึ่งถือเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์. – สำนักข่าวไทย