รัฐสภา 3 เม.ย.- สภาฯ ถก 11 ญัตติ หาทางรับมือแผ่นดินไหว-ภัยพิบัติ ชง “ครม.” ผุดมาตรการตรวจสอบ “บ.รับจ้าง” ขึ้นบัญชีดำผู้รับเหมา หวังป้องกันเหตุซ้ำรอยตึก สตง. ถล่ม
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในช่วงเย็นวันนี้ (3 เม.ย.) ซึ่งมีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมได้ เข้าสู่การพิจารณาญัตติด่วนด้วยวาจา จำนวน 11 ฉบับ ซึ่งเสนอให้สภาฯพิจารณาในเรื่องและประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อ 28 มี.ค. ซึ่งมีผลกระทบต่อประเทศไทย และรวมถึงเหตุที่ตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ มูลค่าก่อสร้างกว่า 2,100 ล้านบาทถล่ม
โดยนายณัฐพงศ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชนฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ อภิปรายเสนอญัตติตอนหนึ่งว่า มาตรการการสร้างความเชื่อมั่นต่อรัฐ คือความโปร่งใส กรณีที่สตง. ว่าจ้างบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจจีน คือ บริษัทไชน่าเรลเวย์ ที่มีประวัติด่างพร้อย และขึ้นบัญชีดำจากธนาคารโลกโดยการก่อสร้างบริษัทในเครือได้รับงานก่อสร้างในประเทศต่าง เช่น เกิดเหตุสะพานถล่มที่เคนยา มีการฮั้วประมูลที่เปรู ปิดบังข้อมูลในซาราเยโว ทำให้ตั้งคำถามว่า สตง. ฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบค่าใช้จ่ายของรัฐให้โปร่งใส จึงยอมให้บริษัทที่มีประวัติเข้ามารับงานก่อสร้างมูลค่าสูงกับ สตง. รวมถึงกลุ่มบริษัทสีเทาที่ผลิตสินค้าไม่ได้มาตรฐาน

นายณัฐพงษ์ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลเตรียมแผนรับมือเหตุแผ่นดินไหวที่จะรุนแรงในอนาคต โดยเฉพาะอาคารเก่าที่ก่อสร้างก่อนปี2550 รับแรงสะเทือนจากแผ่นดินไหว ดังนั้นรัฐบาลต้องมีแผนการตรวจสอบอาคาร จัดสรรงบประมาณ มาตรการต่างๆ เพื่อเสริมความแข็งแรงรองรับแผ่นดินไหวในอนาคต
ทั้งนี้นายธีระชัย แสนแก้ว สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายเสนอญัตติต่อประเด็นตึก สตง. ถล่มหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งมีข้อสังเกตจากสังคมว่าอาจเป็นเพราะการทุจริต โดยการตรวจสอบผู้ถือหุ้นพบว่าส่อว่าเป็นนอมินีคนจีน ซึ่งแปลกใจว่าทำไม สตง.ไม่ตรวจสอบกรณีดังกล่าว ขณะเดียวกันการตรวจสอบเหล็กเส้นก่อสร้างตึก สตง.นั้นพบความไม่ได้มาตรฐาน
“สโลแกนของ สตง. คือ เงินแผ่นดินคือเงินภาษีของประชาชนทั้งชาติ แต่ผมขอฝากว่า สตง.กำลังคนทั้งแผ่นดินตรวจสอบกลับ ที่ผ่านมา สตง.ไม่มาชี้แจงหรือให้ข้อมูลใดๆ มีแค่การออกมาบรรยายความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมผมขอถามว่าอะไรไม่เป็นธรรม สำหรับ สตง. ประชาชนไม่มีสิทธิสงสัย หรือวิจารณ์การพังของตึกที่มาจากภาษีของประชาชน กว่า 2,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังพบเอกสารการซื้อวัสดุที่มีราคาแพง จึงต้องการให้ สตง.ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง” นายธีระชัย กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการเสนอญัตติก่อนที่จะเปิดให้สส.อภิปราย นอกจากข้อเสนอที่ส่งไปยังรัฐบาลต่อการรับมือภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต คือ การตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบโครงการก่อสร้างของรัฐและกำกับให้เป็นไปตามกฎหมายที่ต้องมีการก่อสร้างตามแบบ มีผู้ควบคุมงาน รวมถึงควบคุมมาตรฐานสินค้าในการก่อสร้าง พร้อมกับตั้งข้อสังเกตด้วยว่าในการก่อสร้างอาคารของหน่วยงานราชการพบว่ามีผู้รับเหมาที่เป็นไม่มีความเป็นมืออาชีพทำให้เกิดการทิ้งงานและบางครั้งพบการจ้างก่อสร้างต่อหลายทอด จนทำให้ผู้ที่รับช่วงที่อยู่ในลำดับท้ายไม่มีกำไร และส่อว่าจะขาดทุน จนทำให้ต้องมีการเปลี่ยนสเปควัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง ที่ไม่ได้มาตรฐานจนนำไปมาสู่ความเสียหายในอนาคตได้ ดังนั้นรัฐบาลควรตรวจสอบบริษัทผู้รับจ้าง รับเหมาก่อสร้างและหากพบว่าบริษัทใดไม่ทำตามกติกาให้ขึ้นบัญชีดำและตัดสิทธิการได้รับงานจากหน่วยงานของรัฐ. 312.-สำนักข่าวไทย