กรุงเทพฯ 8 ม.ค. – ประธานหอการค้าไทยเสนอตั้งคณะทำงานรัฐและเอกชนร่วมกันแก้ปัญหาโควิดอย่างเร่งด่วน พร้อมมาตรการดูแลเช่น รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณให้เอกชนบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ใช้มาตรการภาษีสนับสนุนการดูแลแรงงานต่างด้าว
นายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัญหาการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของแรงงานต่างด้าวที่กำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ใหญ่มาก ควรต้องรีบตรวจและแยกคนที่ติดเชื้อ คนที่มีความเสี่ยงและคนที่ยังไม่ติดเชื้อออกจากกัน ซึ่งการตรวจหาผู้ติดเชื้อแบบไม่มีแผนรองรับที่ชัดเจนจะเกิดปัญหาตามมา โดยเอกชนสามารถให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาและมีข้อเสนอแนะดังนี้ คือ 1.ควรตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อร่วมกันวางแผนระยะยาว ในการแก้ไขปัญหาให้สำเร็จ เพื่อให้เกิดแผนการทำงานร่วมกันและสามารถระดมกำลังและทรัพยากรในการจัดการปัญหาได้อย่างทันสถานการณ์ รวมถึงการสื่อสารและแถลงข่าวต้องบริหารจัดการข้อมูลให้เป็น single message เพราะส่งผลกับความเชื่อมั่น ความน่าเชื่อถือของข้อมูล ไม่ให้ประชาชนสับสน
2.ผู้ประกอบการหลายรายในสมุทรสาครมีศักยภาพที่จะบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวด้วยตนเองตั้งแต่การตรวจผู้มีเชื้อ ทั้งการตรวจแบบ rapid test และ PCR การใช้วิธีการทดสอบเพื่อหาผู้รับเชื้อแบบ rapid Test จะช่วยได้มาก ทั้งเรื่องต้นทุนและความรวดเร็ว ภาครัฐควรเร่งอนุมัติการตรวจ rapid test ว่าแบบใด สามารถรับรองผลตรวจได้ การกักพื้นที่ในเขตควบคุม local quarantine จนกระทั่งมีภูมิต้านทาน ควรดูแลผู้ติดเชื้อและผู้มีความเสี่ยง ตามประเภทของชุมชนและอัตราการติดเชื้อ หลังจากการตรวจเชิงรุกตามชุมชน เมื่อตรวจพบผู้ติดเชื้อต้องหาสถานที่ในการแยกกักตัวเพื่อสังเกตอาการ เพื่อลดการแพร่เชื้อ และการติดเชื้อซ้ำ เช่น การแบ่งแยกชั้นการพักอาศัย หรือจำกัดบริเวณชัดเจนในที่พักอาศัย โดยภาครัฐสามารถสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ดำเนินการช่วยดูแลแรงงานของตนเองได้ โดยภาครัฐควรช่วยสนับสนุนค่าตรวจ หรือใช้มาตรการลดหย่อนทางภาษีให้ผู้ประกอบการ
3.มาตรการป้องกันควบคุมการแพร่เชื้อของแรงงานต่างด้าว ควรต้องฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการแพร่เชื้ออย่างถาวร ดังนั้นภาครัฐควรมีมาตรการทางภาษีเพื่อจูงใจให้เอกชนมีส่วนร่วมในการฉีดวัคซีนสำหรับแรงงานต่างด้าว
สำหรับการที่ภาครัฐขอความร่วมมือให้ประชาชนช่วยกัน ใช้แอพลิเคชั่น หมอชนะ นั้น เห็นว่าจะช่วยให้สามารถติดตามผู้มีความเสี่ยงได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นการลดการกรอกเอกสารหากการเดินทางในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพราะสามารถติดตามผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อแบบอัตโนมัติ หากไปยังสถานที่เสี่ยงหรือพบปะผู้มีความเสี่ยง ซึ่งประชาชนที่ไม่มี SMART PHONE ก็สามารถใช้วิธีอื่นในการบันทึกได้ และสุดท้ายภาคเอกชนพร้อมและยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐทำงานบูรณาการ กับหน่วยงานต่างๆ เพื่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นพร้อมกับ ขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยให้กลับมาฟื้นตัวอย่างยั่งยืนต่อไป.-สำนักข่าวไทย