ภูมิภาค 6 ม.ค. – หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสมุทรสาคร ลงพื้นที่เจรจากับชาวชุมชนบริเวณด้านข้างโรงงานปูน เพื่อสร้างความเข้าใจในการนำพื้นที่โกดังเก่าของโรงปูน จัดสร้างโรงพยาบาลสนาม แต่การเจรจาไม่เป็นผล ชาวบ้านไม่ยอมให้ตั้งโรงพยาบาล จึงต้องหาสถานที่สร้างโรงพยาบาลสนามแห่งใหม่
นายวุฒิพงษ์ สุภัควนิช หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมคณะ ลงพื้นที่เจรจากับชาวชุมชนชีผ้าขาว บริเวณด้านข้างโรงงานปูน ม.2 ต.ท่าจีน อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เพื่อสร้างความเข้าใจในการนำพื้นที่โกดังเก่าของโรงปูน พื้นที่ประมาณ 3 ไร่ จัดสร้างโรงพยาบาลสนาม สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายหลังมีชาวบ้านรวมตัวคัดค้าน เนื่องจากเกรงว่าคนในชุมชนที่มีทั้งเด็กเล็กและคนชราจะได้รับผลกระทบ แต่การเจรจากลับไม่เป็นผล ชาวบ้านไม่ยอมให้ตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ นายวุฒิพงษ์ พร้อมคณะเจรจา จึงต้องกลับไปประชุมหาที่สร้างโรงพยาบาลสนามแห่งใหม่
ด้านนายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวถึงกรณีชาว ต.ท่าจีน คัดค้านการตั้งโรงพยาบาลสนามว่า ขอให้เห็นใจและเห็นความจำเป็นที่ต้องจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม หรือ “ศูนย์ห่วงใยคนสาคร” เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อแต่ไม่รุนแรง ซึ่งจะแยกออกมาจากผู้ที่ไม่ติดเชื้อ เพื่อสกัดกั้นการระบาดของเชื้อ ย้ำประชาชนไม่ต้องกังวล เพราะหากมีผู้ที่ติดเชื้อมีอาการรุนแรงจะนำไปรักษาที่โรงพยาบาล ไม่ต้องห่วงเรื่องความปลอดภัย แต่ถ้าไม่มีโรงพยบาลสนามเพิ่มขึ้น คาดว่าจะมีสถานที่ไม่เพียงพอที่จะรองรับจำนวนผู้ติดเชื้อ ซึ่งเพิ่มขึ้นทุกวัน ตอนนี้เกือบ 3,000 รายแล้ว จึงอยากจะขอความเห็นใจจากพี่น้องประชาชนชาวสมุทรสาคร อย่าคัดค้านการจัดตั้ง “ศูนย์ห่วงใยคนสาคร”
ด้านนายแพทย์นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า ตามหลักการด้านสาธารณสุขต้องแบ่งแยกคนที่มีเชื้อกับไม่มีเชื้อออกจากกัน เป็นระเวลา 14 วันก็จะปลอดภัย และไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องการติดเชื้อถ้าหากเราอยู่ห่างกันระยะเกิน 1 เมตร และสวมหน้ากากอนามัย เชื้อจะไม่สามารถติดได้ และเชื้อไม่ได้ลอยตามอากาศ แต่จะตายเมื่อถูกแสงแดด 3 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นการคัดค้านไม่ให้มีการตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อคัดแยกผู้ติดเชื้อ และหากปล่อยอยู่รวมกันเชื้อก็จะระบาดไปทั่วทั้งจังหวัดแน่นอน
ด้านนายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ได้สั่งการให้เพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวัง ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยให้ตั้งด่านตรวจตามเส้นทางถนนสายหลักที่ใช้เดินทางเชื่อมต่อจังหวัดข้างเคียง รวม 6 ด่าน ประกอบด้วย 1.ด่านบนถนนสาย 36 ท้องที่ อ.นิคมพัฒนา 2.ด่านบนถนนสุขุมวิท ท้องที่ อ.บ้านฉาง 3.ด่านบนถนนสุขุมวิท หน้าทางเข้าสนามบินอู่ตะเภา 4.ด่านบนถนนสายบ้านบึง-บ้านค่าย ท้องที่ อ.ปลวกแดง 5.ด่านบนถนนสายบ้านบึง-แกลง อ.วังจันทร์ และ 6.ด่านบนถนนสุขุมวิท ติดต่อเขตแดน จ.จันทบุรี ท้องที่ อ.แกลง โดยบูรณาการกำลังทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ปฏิบัติการ
สำหรับรถส่วนบุคคลจะเน้นสอบถามที่ไปจดทะเบียนรถ ตรวจวัดอุณหภูมิ และรณรงค์สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ส่วนรถเมล์และรถโดยสารสาธารณะ ผู้โดยสารทุกรายต้องลงจากรถมาตรวจอุณหภูมิร่างกาย และแสดงบัตรประจำตัวประชาชน รวมทั้งเน้นย้ำให้สวมใส่หน้ากากอนามัย
ส่วนบรรยากาศตามถนนสายหลักที่เข้าสู่ตัวเมืองระยองและออกจากตัวเมืองระยอง ตลอดจนในเขตเทศบาลนครระยอง ค่อนข้างเงียบเหงา มีรถสัญจรบนถนนบางตา เพราะผู้คนงดการเดินทาง ร้านค้า ร้านขายอาหาร ตลอดจนบรรดาพ่อค้าขายอาหารแบบรถเข็นตามริมถนนบนทางเท้าบางร้านหยุดขายชั่วคราว ส่วนร้านที่ยังเปิดขายอยู่ ลูกค้าก็ซื้อกลับไปกินที่บ้าน
ส่วนที่ จ.จันทบุรี หลังพบแม่ค้าในตลาดใหญ่กลางชุมชน อ.เมืองจันทบุรี ติดโควิด-19 เจ้าของตลาดสั่งปิด 14 วัน ประสานท้องถิ่นเร่งพ่นยาทำความสะอาดทันที ที่ตลาดเจริญสุข ต.ท่าช้าง อ.เมือง จ.จันทบุรี แม่ค้าพ่อค้า พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมกองช่าง อบต.ท่าช้าง ได้เข้าทำความสะอาดภายในตลาด พร้อมทั้งพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโควิด-19 ทั่วแผงจำหน่ายสินค้า และบริเวณด้านในตลาด หลังจากตลาดเจริญสุขประกาศว่าเจ้าของแผงจำหน่ายยำติดเชื้อโควิด-19 สร้างความวิตกให้กับประชาชนจำนวนมากที่เข้าไปจับจ่ายซื้ออาหารและข้าวของภายในตลาดตั้งแต่ช่วงก่อนปีใหม่ เนื่องจากเป็นตลาดแหล่งใหญ่ที่มีคนเข้า-ออกนับพันคน
น.ส.กมลชนก สหายสุข อายุ 26 ปี ลูกสาวเจ้าของตลาดเจริญสุข เปิดเผยว่า หลังทราบว่ามีผู้ค้าในตลาดตรวจพบเชื้อโควิด-19 จึงรีบแจ้งข้อเท็จจริงให้แผงจำหน่ายสินค้าและประชาชนทราบทันที เพื่อป้องกันการแตกตื่น ซึ่งพบผู้ป่วยติดเชื้อจริงรายเดียว เป็นหญิงไทย อายุประมาณ 40 ปีเศษ จำหน่ายอาหารประเภทยำ สัมผัสกลุ่มเสี่ยงสูงจากคนในครอบครัวตัวเอง โดยได้มาขายวันสุดท้ายเมื่อวันที่ 2 ม.ค.ที่ผ่านมา จากนั้นหยุดขายและเริ่มกักตัวเมื่อวันที่ 3 ม.ค. พร้อมกับเดินทางไปตรวจหาเชื้อ ต่อมาเช้าวันที่ 5 ม.ค. ได้แจ้งผลตรวจมายังตลาด พบผลตรวจเป็นบวก จึงแจ้งให้ผู้ค้าที่สัมผัสกับผู้ป่วยและกลุ่มที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง และแผงรอบข้างทั้งหมด 15 แผง ไปตรวจหาเชื้อและสังเกตอาการอยู่บ้าน 15 วัน นับตั้งแต่เมื่อวานนี้ (5 ม.ค.) พร้อมกันนี้ได้ปิดตลาด 14 วัน นับตั้งแต่วันนี้ และจะเปิดทำการอีกครั้งวันที่ 20 ม.ค. พร้อมเผยหลังจากนี้จะให้ผู้ค้าและผู้เกี่ยวข้องในตลาดทั้ง 225 แผง ทำไทม์ไลน์ของตัวเอง
ที่ จ.ตราด นายภิญโญ ประกอบผล ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด สั่งปิดชั่วคราวสถานที่เสี่ยงแพร่ระบาดของเชื้อในทุกพื้นที่ ประกอบด้วย สถานบริการ สถานที่ที่จัดให้มีการเล่นการพนันไก่ชน กัดปลา สนามซ้อมชนไก่ สถานที่ลักลอบเล่นการพนันทุกประเภท สถานประกอบการกิจการอาบน้ำ อบไอน้ำ สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สถานที่สัก
ส่วนสถานที่ที่ให้เปิดทำการหรือเปิดบริการได้ คือร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าปลีก ร้านอาหารเครื่องดื่ม โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่กำกับดูแลรักษาความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย พร้อมประกาศขอความร่วมมือไปยังบุคคลที่เดินทางไปยังสถานที่ศูนย์บริการรถยนต์ งานผู้สูงอายุองค์การบริหารส่วนจังหวัดตราด โต๊ะสนุกเกอร์ภายในตลาด รถโดยสารปรับอากาศ ร้านข้าวต้ม ประชาชนที่เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิด รวมถึงผู้ติดเชื้อให้ข้อมูลที่ถูกต้อง อย่าปิดบังข้อมูลกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและบุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวเป็นสิ่งที่สำคัญในการสอบสวนโรค และเป็นการป้องกันเชื้อโควิด-19 ไม่ให้ระบาดในวงกว้าง และขอให้ประชาชนทุกคนปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขโดยเคร่งครัดด้วย
ด้านเมืองตราดได้จัดเจ้าหน้าที่ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในทุกพื้นที่ของศาลากลางจังหวัดตราด ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการต่างๆ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระบาดของเชื้อโควิด-19 สร้างความมั่นใจให้ประชาชนที่จะเดินทางมาติดต่อราชการ นอกจากการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อแล้ว หน่วยงานต่างๆ ยังได้ตั้งจุดให้บริการแอลกอฮอล์เจล และตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายผู้ที่จะมาติดต่อราชการอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย