กรุงเทพฯ 4 ม.ค.-พบผู้ประกันตนได้รับผลกระทบจากประกาศหยุดงานในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด กว่า 1 แสนคน รวม 6,098 กิจการ ด้านรัฐบาลพร้อมเยียวยา ลดขั้นตอนขอรับการชดเชยเร็วขึ้น
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงมาตรการเยียวยาผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยกำหนดให้ลดเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตนเป็นระยะเวลา 3 เดือน รวมถึงการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีมีเหตุสุดวิสัยและการเตรียมความพร้อมระบบรับชำระเงินสมทบผ่านช่องทางออนไลน์ และหน้าเคาน์เตอร์ธนาคาร
นายสุชาติ กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ปี2563 ส่งผลให้ลดเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตน ตาม ม.33 เหลือร้อยละ 3 ส่วนผู้ประกันตน ตามมาตรา 278 เหลือ 278 บาทต่อเดือน รวมระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่มกราคม-มีนาคมนี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจให้ได้รับการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของทุกฝ่ายได้ถึง 15,660 ล้านบาท
ตอนนี้มีมาตรการช่วยเหลือ แบ่งเป็น 1.เตรียมความพร้อมระบบรองรับการรับชำระเงินสมทบอัตราใหม่ผ่านช่องทางต่างๆ ตั้งแต่วันที่1มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งนายจ้างสามารถชำระเงินสมทบให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงไทย และธนาคารธนชาต หรือชำระผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารตามที่กล่าวมา และธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารซิตี้แบงค์ ฯลฯ และสำนักงานประกันสังคมทุกพื้นที่
สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา39 ที่ใช้บริการหักบัญชีเงินฝากกับธนาคารต่างๆทุกหน่วยบริการพร้อมหักบัญชีอัตโนมัติในรอบวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ ส่วนผู้ที่ใช้บริการตามเคาน์เตอร์เทสโก้โลตัสจะเริ่มให้บริการวันที่ 7 มกราคมนี้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เริ่มวันที่ 15 มกราคม ส่วนธนาคารธนชาต เริ่มวันที่ 1 กุมภาพันธ์
มาตรการ 2 การจ่ายสิทธิประโยชน์ กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย (โรคระบาด) สำหรับลูกจ้างผู้ประกันตนที่มีเงินสมทบครบ 6 เดือนใน 15 เดือน แต่ไม่ได้ทำงานหรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากต้องกักตัว หรือนายจ้างหยุดประกอบกิจการจนลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างนั้น จะได้รับสิทธิทดแทนในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวันตลอดระยะเวลากักตัวแล้วแต่กรณี แต่ไม่เกิน 90 วัน เช่น ผู้ที่มีฐานเงินเดือน 15,000 บาท จะได้รับเงินเยียวยา 7,500 บาท ซึ่งมาตรการนี้ครอบคลุมทั้งประเทศ ไม่ใช่เพียง 28 จังหวัดตามที่มีประกาศสั่งให้หยุดกิจการ และสามารถขอรับสิทธิประโยชน์โดยกรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส.2-01/7 ผ่านเว็บไซต์ www.sso.go.th แล้วนำส่งนายจ้างได้ตั้งแต่วันนี้ ย้ำให้ระบุเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ และเลขบัญชีธนาคาร
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 หรือผู้ทำอาชีพอิสระนอกระบบ จะเป็นหน้าที่การดูแลของหน่วยงานอื่น
สำหรับนายจ้าง ให้ยื่นขอรับสิทธิว่างงานผ่านเว็บไซต์เดียวกันและบันทึกข้อมูลในระบบอีเซอร์วิส โดยต้องบันทึกข้อมูลลูกจ้างตามแบบฟอร์มและหนังสือรับรองการหยุดงาน กรณีราชการสั่งปิด หรือกักตัว แล้วส่งทางไปรษณีย์ไปยังสำนักงานประกันสังคมในพื้นที่
ทั้งนี้ ลูกจ้างผู้ประกันตนไม่ต้องเดินทางไปยังสำนักงานฯ เมื่อครบถ้วนทุกขั้นตอน หลังจากนั้นเงินจะโอนเข้าบัญชีภายใน 5 วันทำการ และรอบตัดจ่ายกำหนดทุกสิ้นเดือนถัดไป หรือจนกว่าจะครบวันที่สถานประกอบการมีกำหนดปิด.- สำนักข่าวไทย