นนทบุรี 30 ธ.ค. – อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประเมินแนวโน้มการส่งออกปี 64 ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ย้ำโตได้แน่ร้อยละ 4
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ประเมินทิศทางการส่งออกของไทยในปี 2564 ว่าจะกลับมาขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป คาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 4 ซึ่งสอดคล้องกับหลายหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน มีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าปี 2564 เศรษฐกิจโลกจะมีอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 5.2 จากติดลบที่ร้อยละ 4.4 ในปี 2563 โดยประเทศกำลังพัฒนาในกลุ่ม Emerging Markets ในเอเชีย (จีน อินเดีย และอาเซียน 5 ประเทศ) จะมีการฟื้นตัวเร็วที่สุดเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ และองค์การการค้าโลก (WTO) คาดว่าการค้าโลกในปี 2564 จะสามารถกลับมาขยายตัวที่ ร้อยละ 7.2 ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยที่จะสนับสนุนการส่งออกของไทยให้ฟื้นตัวขึ้นได้
ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ช่วยสนับสนุนการส่งออก ได้แก่ การคิดค้นและริเริ่มการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์แพร่ระบาดและสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งส่งผลสืบเนื่องให้ภาคอุปสงค์มีแนวโน้มขยายตัว , มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศ ทำให้เศรษฐกิจโลกในภาพรวมปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงเริ่มมีคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าเพิ่มมากขึ้น
ขณะเดียวกัน การส่งออกยังได้รับผลดีจากทิศทางนโยบายของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ (นายโจ ไบเดน) มีนโยบายเน้นการยึดถือกฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศภายใต้กรอบ WTO มากขึ้น และความสำเร็จของการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) จะส่งผลดีต่อการขยายตัวของการค้าในภูมิภาคอาเซียน และนอกภูมิภาคอาเซียน อีก 5 ประเทศ (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) โดยจะช่วยให้เศรษฐกิจอาเซียนและไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้นในปีหน้า
นอกจากนี้ สินค้าส่งออกที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 โดยเฉพาะสินค้าอาหาร สินค้าสุขอนามัย และสินค้าเพื่อความบันเทิงในที่พักและการทำงานที่บ้าน (work from home) ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง เนื่องจากมีการกลับมาระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในหลายประเทศ รวมถึงบริการดิจิทัลคอนเทนต์และบริการสุขภาพ ขณะที่ระบบโลจิสติกส์ ไม่มีการหยุดชะงัก และคู่ค้ามีความมั่นใจในสินค้าไทยที่ปลอดเชื้อจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี
อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยเสี่ยงที่จะต้องระวัง คือ การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้า ซึ่งเรื่องนี้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการประชุมร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทยและภาคเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้แล้ว ทั้งการเร่งนำเข้าตู้เปล่า ซ่อมตู้เก่า ส่งออกโดยไม่ใช้ตู้ สนับสนุน SMEs รวมตัวจองตู้ และหาทางให้เรือ 400 เมตรเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบังได้ รวมถึงค่าเงินบาทแข็งค่า ที่จะกระทบต่อการแข่งขัน ความไม่แน่นอนของโควิด-19 ที่จะทำให้มีการล็อกดาวน์ในบางประเทศ และการกีดกันทางการค้าที่จะมีมากขึ้น เช่น มาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อมเป็นต้น . – สำนักข่าวไทย