กทม. 28 ธ.ค.63- สกสว. เผยผลวิจัยคาดการณ์การระบาดของโควิด-19 กระทบอุตสาหกรรมอาหารฟื้นตัวช้า นักวิจัยเสนอภาครัฐมุ่งใช้เทคโนโลยีพัฒนาไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารเพื่ออนาคต
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. เปิดเผยผลการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมหลังวิกฤตโควิด19 พบข้อมูลภาคอุตสาหกรรมอาหารได้รับผลกระทบน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น
รศ.ดร.จุฑาทิพย์ จงวนิชย์ นักวิจัยโครงการการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมหลังวิกฤต COVID-19 สกสว. กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 แต่ยังน้อยกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ผลการวิเคราะห์ผู้ประกอบการเปราะบางสูงและเปราะบางคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 68 ของผู้ประกอบการทั้งหมดในอุตสาหกรรมอาหาร เมื่อเกิด shock ขึ้นผู้ประกอบการดังกล่าวอาจไม่สามารถที่จะบริหารธุรกิจโดยเฉพาะในส่วนของความเพียงพอทางด้านเงินสดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งในอุตสาหกรรมอาหารผู้ประกอบการที่มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โรงแรมและสายการบิน ที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นผู้ประกอบการที่ถูกกระทบหนัก โดยระยะสั้นผู้ประกอบการเหล่านี้ยังคงต้องการได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของมาตรการที่ช่วยเพิ่มความคล่องตัวทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ สินเชื่อพิเศษดอกเบี้ยต่ำอย่าง soft loan ยังเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการอาหารต้องการและยังเข้าถึงในสัดส่วนที่ต่ำ
อย่างไรก็ตามการเพิ่มวงเงินค้ำประกันของรัฐบาล และข้อจำกัดการค้ำประกัน จะยังเป็นส่วนที่ช่วยเพิ่มการปล่อยสินเชื่อได้ โดยที่อีกส่วนหนึ่งใช้มาตรการภาษี โดยให้ผู้ประกอบการสามารถนำผลขาดทุนที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2563 ซึ่งเป็นปีที่เกิด shock มาคำนวณผลกำไรขาดทุนได้ในปีถัดๆไป อีกส่วนคือการปรับโครงสร้างหนี้และการพักชำระหนี้
ทั้งนี้รัฐบาลต้องเร่งให้ความสำคัญกับการใช้มาตรการเพื่อพัฒนาประเทศในระยะปานกลาง (ยาว) เพิ่มมากขึ้น โดยมองว่าการใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันยังมีอยู่อย่างจำกัด โครงการเกษตรและอาหารภายใต้งบประมาณ 4 แสนล้านบาทยังคงมีอยู่เพียงประมาณร้อยละ 8 ของวงเงินงบประมาณ และการกระจายตัวของโครงการยังกระจุกตัวอยู่เพียงการพัฒนาการผลิต แต่โครงการที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงพันธ์พืช และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และการจัดจำหน่ายยังมีอยู่จำกัด จึงต้องเร่งให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างเป็นระบบในอุตสาหกรรมอาหาร
อย่างไรก็ตามโอกาสหนึ่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 สามารถมุ่งพัฒนาให้ไทยเป็นแหล่งการผลิตอาหารอนาคตที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เช่น การผลิตโปรตีนทางเลือก ต้นทุนและคุณภาพของวัตถุดิบเป็นสิ่งที่สำคัญ วัตถุดิบในการผลิตสินค้าเหล่านี้ส่วนใหญ่ไทยยังต้องนำเข้า เช่น ถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง ข้าวโพด มันฝรั่ง และมีการกระจุกตัวของประเทศที่ไทยนำเข้าอยู่เพียงไม่กี่ประเทศ
ทั้งนี้สินค้าส่วนใหญ่เหล่านี้เป็นสินค้าที่ยังมีการคุ้มครองที่สูงโดยเฉพาะการจำกัดโควตาการนำเข้าและการตั้งภาษีนอกโควตาในอัตราที่สูง การขยายปริมาณโควตาอย่างเป็นระบบและค่อยๆปรับลดอัตราภาษีนอกโควตาพร้อมไปกับการพัฒนาการผลิตของภาคเกษตรน่าจะมีส่วนช่วยในการลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพของวัตถุดิบในประเทศ
ขณะที่การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมอาหารเป็นอีกเรื่องที่ควรเร่งเดินหน้าทั้งในส่วนของการผลิตบรรจุภัณฑ์ การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานและช่องทางการจัดจำหน่าย ซึ่งการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมอาหารต้องควบคู่ไปกับการเพิ่มศักยภาพในห้องปฏิบัติการตรวจสอบอาหารและบรรจุภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพและให้บริการแก่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายกลางและเล็ก ที่ต้องการความช่วยเหลือของภาครัฐในส่วนของห้องปฏิบัติการตรวจสอบอาหารยังมีขั้นตอนยุ่งยากรัฐอาจต้องร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาการตรวจสอบคุณภาพอาหารให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
ช่วยให้ความรู้กับ SMEs ในเรื่องของการตรวจสอบสุขอนามัยในสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศผู้นำเข้าซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศเป็นเรื่องสำคัญเพราะการระบาดของ COVID-19 ทำให้ทุกประเทศให้ความสำคัญทางด้านความปลอดภัยอาหารเพิ่มขึ้น โดยภาครัฐควรต้องมีแผนชัดเจนเพื่อรองรับและถ่ายโอนแรงงานที่อาจถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีอีกด้วย
สำหรับบทเรียนสำคัญอย่างหนึ่งจากวิกฤตโควิด-19 คือ การกระจายความเสี่ยงให้กับผู้ประกอบการและพัฒนาศักยภาพการผลิตอาหารได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการกระจายตลาดส่งออกเดิมสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร เปิดตลาดผ่านกรอบความตกลงการค้าเสรีทั้งในตลาดหลักอย่างยุโรป และสหรัฐฯ หรือตลาดรองอย่างประเทศในกลุ่มแอฟริกาจะเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมอาหารที่ประเทศไทยมีศักยภาพการผลิต รวมทั้งภาครัฐ อาจจำเป็นต้องเปิดการแสดงสินค้าอาหารในตลาดต่างประเทศด้วย