5 หน่วยงานยกระดับผู้ประกอบการยานยนต์สู่เทคโนโลยีสมัยใหม่

กรุงเทพฯ 6 ก.ค.- สกสว. จับมือ บพข. สนช. สยย. และ EVAT ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการยานยนต์ไปสู่เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) มุ่งสริมสร้างความร่วมมือ สนับสนุนผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนการยกระดับผู้ประกอบการยานยนต์ให้เปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และสร้างโอกาสในการพัฒนาศักยภาพการผลิต 

คาดโควิด-19 ฉุดอุตสาหกรรมอาหารฟื้นตัวช้า

กทม. 28 ธ.ค.63- สกสว. เผยผลวิจัยคาดการณ์การระบาดของโควิด-19 กระทบอุตสาหกรรมอาหารฟื้นตัวช้า นักวิจัยเสนอภาครัฐมุ่งใช้เทคโนโลยีพัฒนาไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารเพื่ออนาคต สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. เปิดเผยผลการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมหลังวิกฤตโควิด19 พบข้อมูลภาคอุตสาหกรรมอาหารได้รับผลกระทบน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น รศ.ดร.จุฑาทิพย์ จงวนิชย์ นักวิจัยโครงการการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมหลังวิกฤต COVID-19 สกสว. กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 แต่ยังน้อยกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ผลการวิเคราะห์ผู้ประกอบการเปราะบางสูงและเปราะบางคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 68 ของผู้ประกอบการทั้งหมดในอุตสาหกรรมอาหาร เมื่อเกิด shock ขึ้นผู้ประกอบการดังกล่าวอาจไม่สามารถที่จะบริหารธุรกิจโดยเฉพาะในส่วนของความเพียงพอทางด้านเงินสดได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ซึ่งในอุตสาหกรรมอาหารผู้ประกอบการที่มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โรงแรมและสายการบิน ที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นผู้ประกอบการที่ถูกกระทบหนัก โดยระยะสั้นผู้ประกอบการเหล่านี้ยังคงต้องการได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของมาตรการที่ช่วยเพิ่มความคล่องตัวทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ สินเชื่อพิเศษดอกเบี้ยต่ำอย่าง soft loan ยังเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการอาหารต้องการและยังเข้าถึงในสัดส่วนที่ต่ำ อย่างไรก็ตามการเพิ่มวงเงินค้ำประกันของรัฐบาล และข้อจำกัดการค้ำประกัน จะยังเป็นส่วนที่ช่วยเพิ่มการปล่อยสินเชื่อได้ โดยที่อีกส่วนหนึ่งใช้มาตรการภาษี โดยให้ผู้ประกอบการสามารถนำผลขาดทุนที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2563 ซึ่งเป็นปีที่เกิด shock มาคำนวณผลกำไรขาดทุนได้ในปีถัดๆไป  อีกส่วนคือการปรับโครงสร้างหนี้และการพักชำระหนี้ ทั้งนี้รัฐบาลต้องเร่งให้ความสำคัญกับการใช้มาตรการเพื่อพัฒนาประเทศในระยะปานกลาง (ยาว) เพิ่มมากขึ้น โดยมองว่าการใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันยังมีอยู่อย่างจำกัด โครงการเกษตรและอาหารภายใต้งบประมาณ 4 แสนล้านบาทยังคงมีอยู่เพียงประมาณร้อยละ 8 ของวงเงินงบประมาณ และการกระจายตัวของโครงการยังกระจุกตัวอยู่เพียงการพัฒนาการผลิต แต่โครงการที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงพันธ์พืช และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และการจัดจำหน่ายยังมีอยู่จำกัด จึงต้องเร่งให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างเป็นระบบในอุตสาหกรรมอาหาร อย่างไรก็ตามโอกาสหนึ่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 สามารถมุ่งพัฒนาให้ไทยเป็นแหล่งการผลิตอาหารอนาคตที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เช่น การผลิตโปรตีนทางเลือก ต้นทุนและคุณภาพของวัตถุดิบเป็นสิ่งที่สำคัญ  วัตถุดิบในการผลิตสินค้าเหล่านี้ส่วนใหญ่ไทยยังต้องนำเข้า เช่น ถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง ข้าวโพด มันฝรั่ง และมีการกระจุกตัวของประเทศที่ไทยนำเข้าอยู่เพียงไม่กี่ประเทศ  ทั้งนี้สินค้าส่วนใหญ่เหล่านี้เป็นสินค้าที่ยังมีการคุ้มครองที่สูงโดยเฉพาะการจำกัดโควตาการนำเข้าและการตั้งภาษีนอกโควตาในอัตราที่สูง การขยายปริมาณโควตาอย่างเป็นระบบและค่อยๆปรับลดอัตราภาษีนอกโควตาพร้อมไปกับการพัฒนาการผลิตของภาคเกษตรน่าจะมีส่วนช่วยในการลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพของวัตถุดิบในประเทศ   ขณะที่การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมอาหารเป็นอีกเรื่องที่ควรเร่งเดินหน้าทั้งในส่วนของการผลิตบรรจุภัณฑ์ การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานและช่องทางการจัดจำหน่าย ซึ่งการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมอาหารต้องควบคู่ไปกับการเพิ่มศักยภาพในห้องปฏิบัติการตรวจสอบอาหารและบรรจุภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพและให้บริการแก่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายกลางและเล็ก ที่ต้องการความช่วยเหลือของภาครัฐในส่วนของห้องปฏิบัติการตรวจสอบอาหารยังมีขั้นตอนยุ่งยากรัฐอาจต้องร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาการตรวจสอบคุณภาพอาหารให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น  ช่วยให้ความรู้กับ SMEs ในเรื่องของการตรวจสอบสุขอนามัยในสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศผู้นำเข้าซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศเป็นเรื่องสำคัญเพราะการระบาดของ COVID-19 ทำให้ทุกประเทศให้ความสำคัญทางด้านความปลอดภัยอาหารเพิ่มขึ้น โดยภาครัฐควรต้องมีแผนชัดเจนเพื่อรองรับและถ่ายโอนแรงงานที่อาจถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีอีกด้วย สำหรับบทเรียนสำคัญอย่างหนึ่งจากวิกฤตโควิด-19 คือ การกระจายความเสี่ยงให้กับผู้ประกอบการและพัฒนาศักยภาพการผลิตอาหารได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการกระจายตลาดส่งออกเดิมสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร เปิดตลาดผ่านกรอบความตกลงการค้าเสรีทั้งในตลาดหลักอย่างยุโรป และสหรัฐฯ หรือตลาดรองอย่างประเทศในกลุ่มแอฟริกาจะเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมอาหารที่ประเทศไทยมีศักยภาพการผลิต รวมทั้งภาครัฐ อาจจำเป็นต้องเปิดการแสดงสินค้าอาหารในตลาดต่างประเทศด้วย

แผนพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนสามจังหวัดชายแดนใต้

ปัตตานี 6 ธ.ค. 63 – สกสว. ร่วมส่งมอบแผนพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน ตั้งเป้ายกระดับการท่องเที่ยวสามจังหวัดชายแดนใต้ รศ.ดร.ปัทมาวดี  โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นำคณะผู้บริหาร สกสว. ลงพื้นที่จังหวัดปัตตานี ดำเนินกิจกรรมส่งมอบแผนพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานนำคณะผู้บริหารหน่วยงานส่วนกลางและหน่วยงานในพื้นที่ ร่วมส่งมอบแผนและนโยบายในการบูรณาการการพัฒนาการท่องเที่ยวใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  การลงพื้นที่ในครั้งนี้ ถือเป็นการสานต่อความร่วมมือและแสดงให้เห็นถึงผลความคืบหน้าจากการดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ร่วมกับภาคีเครือข่ายประกอบด้วย องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 ถึง 2563 ในการร่วมกันพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยมีประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนสร้างการรับรู้กิจกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชนต้นแบบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ผ่านกระบวนการร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมรับผลประโยชน์และมุ่งเน้นการสร้างการมีส่วนร่วม สร้างการยอมรับ เพื่อบรรลุเป้าหมาย ให้การท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งจะช่วยยกระดับให้ชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ดังกล่าวมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมา มีความสำเร็จของโครงการนี้ในหลากหลายมิติ เกิดการบูรณาการในการสร้างองค์ความรู้ รูปแบบและแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมจนกระทั่งทำให้ผลประเมินศักยภาพชุมชนท่องเที่ยวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย จำนวน 14 ชุมชน เกิดการกระจายรายได้ที่ได้ชัดเจน และนำกองทุนกลางที่ได้จากการท่องเที่ยวไปใช้เพื่อการพัฒนาสาธารณประโยชน์เช่น การพัฒนาคุณภาพชีวิต การช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส และการดูแลอนุรักษ์ทรัพยากร โดยการลงพื้นที่ในวันนี้คณะผู้บริหารได้มีโอกาสร่วมทดลองเดินทางตามเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่ตำบลทรายขาว จ.ปัตตานี โดยนั่งรถจี้ปสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2  เยี่ยมชมมัสยิดโบราณที่เป็นสถานที่เก็บคัมภีร์อัลกุรอานอายุหลายร้อยปี นอกจากนี้ ยังได้ส่งมอบผลผลิตจากการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานยกระดับการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้สู่ตลาดการท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพ ยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ .-สำนักข่าวไทย

ชวนจุดประกายความคิดกับงานมหกรรมวิทย์63

เมืองทองธานี 15 พ.ย.63 – สกสว. ชวนเด็กไทยมาจุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ 2563 สำนักงานคณะกรรมกาาส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดบ้าน “Super Fruits”  ชวนเด็กไทยเรียนรู้คุณค่าผักผลไม้ไทย  ในงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2563” เชิญชวนมาร่วมจุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ของเด็กและเยาวชนไทย ณ อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี  รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2563  เป็นกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศ จัดขึ้นเป็นปีที่ 15 สกสว. ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำนิทรรศการ “Super Fruits” ที่เยาวชนจะได้พบกับเกมสนุกๆ สอดแทรกสาระความรู้ จากวิธีการกินผลไม้ไทยให้ได้ประโยชน์ครบถ้วน   ซึ่งองค์ความรู้ดังกล่าวมาจากการศึกษาค้นคว้าในโครงการวิจัย คุณค่าผลไม้ไทย Thai Fruits – Functional Fruits โดย ศ.ดร.นันทวัน  บุณยะประภัศร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  ที่ได้รับรางวัลผลงานวิจัยเด่นด้านสาธารณะ สกสว. เช่น ผักผลไม้ที่มีสีเหลืองและส้มอย่างมะละกอ แครอท มะม่วงสุก สับปะรด ที่มีสารคาโรตินอยด์ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง หลอดเลือดอุดตัน ลดความเสี่ยงการเป็นต้อกระจกในผู้สูงอายุ หรือสารในผักและผลไม้ส่วนใหญ่ไม่ทนต่อความร้อน ทำให้กล้วยทอด กล้วยอบ จะมีประโยชน์น้อยกว่ากล้วยที่ไม้ได้แปรรูป แต่ถ้าเป็นผักการลวกหรือผัดจนสุกจะได้ประโยชน์มากกว่าต้มจนเละ เป็นต้น  สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกเดินทาง หรืออยู่ในต่างจังหวัด สามารถเข้าร่วมสนุกกับกิจกรรม ได้ทาง Facebook Fanpage สกสว. เพื่อลุ้นรับของรางวัล จากกิจกรรมตอบคำถาม Q & A ผ่านทาง Live สด และกิจกรรม แชะ & แชร์ ถ่ายภาพคู่กับผลไม้ ในมื้ออาหาร จากนั้นเขียนข้อความถึงสรรพคุณผลไม้ที่ทาน พร้อมติด Hastag #TSRIคุณค่าผลไม้ไทย#Superfruits   โดยทั้ง 2 กิจกรรมจะมีการประกาศผลผู้รับรางวัลทาง Facebook Fanpage สกสว. ทุกวันตลอดการจัดงาน ถึงวันที่ 23 พฤศจิกายนนี้ .-สำนักข่าวไทย

สกสว. พร้อมดันระบบ ววน. แก้ปัญหาภาคเหนือ

ลำปาง 13 พ.ย.63 – สกสว. เสนอทิศทางยุทธศาสตร์ใช้ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นกลไกขับเคลื่อนองค์ความรู้ ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรมแก้ปัญหาพื้นที่ภาคเหนือ  ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่จังหวัดลำปาง ประชุมหารือกับส่วนราชการในจังหวัด และตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยในพื้นที่จังหวัดลำปาง พร้อมมอบนโยบายแนวทางการใช้การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการขับเคลื่อนโครงการ“ขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันจังหวัดลำปาง โดยคณะผู้บริหาร สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. ได้นำเสนอรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ เศรษฐกิจ สังคม ยุทธศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ จังหวัดลำปาง ซึ่ง สกสว. ได้ศึกษาสถานการณ์และภาพรวมงานวิจัยเพื่อพัฒนาและแก้ปัญหาในจังหวัดลำปาง เป็นการรวบรวมข้อมูลผลการศึกษาและผลการสำรวจสถานการณ์ในพื้นที่ รวมถึงผลงานวิจัยเดิมใช้ประกอบการพิจารณาการพัฒนาจังหวัดลำปางในมิติต่างๆ เพื่อให้การบริหารงานเชิงยุทธศาสตร์มีกรอบทิศทางการพัฒนาระดับพื้นที่ที่มีความชัดเจน มีการแก้ไขปัญหาร่วมกันและเกิดการใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  โดยที่ผ่านมามีการเก็บรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลด้วยแบบสอบถามความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับความสำคัญและเร่งด่วนตามกรอบประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืน(Delphi )6 ด้าน ได้แก่ 1) สังคม 2) เศรษฐกิจ 3) สิ่งแวดล้อม 4) สันติภาพ สิทธิมนุษยชน และความยุติธรรม 5) ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาภายในและระหว่างประเทศ และ 6) เทคโนโลยี องค์ความรู้ และนวัตกรรม  โดยพบว่า ภาคเหนือยังต้องการการพัฒนาในทุกด้านภายใต้กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยประเด็นพัฒนาที่สำคัญยังคงเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม  สกสว. จึงมีแนวคิดพัฒนาแผนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภูมิภาค: ภาคเหนือ ในระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2565 – 2568)  มุ่งเน้นแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ 5 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย 1. การถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรลดลง 2. ระบบการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมและไม่ตอบสนองท้องถิ่น 3. การพัฒนาระบบเกษตรที่ไม่เอื้อต่อความมั่นคงทางอาหาร 4. ขาดการพัฒนาระบบเศรษฐกิจชุมชนบนฐานนิเวศวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติ 5. ค่า PM ที่สูงต่อเนื่อง เพื่อกำหนดทิศทางงานวิจัยที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมตอบโจทย์แก้ไขปัญหาให้กับพื้นที่ได้อย่างแท้จริง ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่ากระทรวง อว. มีความพร้อมทั้งด้านงบประมาณ องค์ความรู้ทางเทคโนโลยีและกำลังคนที่สามารถเข้ามาช่วยเหลือในการพัฒนาจังหวัดลำปางด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยี ปัจจุบันได้มีการตั้งคณะทำงาน อว. ส่วนหน้า โดยแต่งตั้งรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยในพื้นที่เพื่อร่วมหารือแนวทางการทำงานกับทางส่วนราชการจังหวัดลำปางและเป็นศูนย์การเชื่อมต่อการทำงานของ อว. กับความต้องการของพื้นที่ เพื่อให้การทำงานของ อว. ส่วนหน้านั้นสามารถปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว ทั้งการสนับสนุนองค์ความรู้และงบประมาณด้านการวิจัย ซึ่งจังหวัดลำปาง จะเป็นจังหวัดนำร่องในการขับเคลื่อนโครงการนี้ และสามารถต่อยอดขยายผลต่อไปทั่วประเทศ  พร้อมทั้งมีแนวคิดสร้างพิพิธภัณฑ์ล้านนา โดยสนับสนุนการใช้ทุนทางวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง นำมาต่อยอดสร้างสรรค์ เป็นศูนย์กลางในการสร้างคุณค่าและความหมายให้กับจังหวัดลำปางมากยิ่งขึ้น และมอบนโยบาย”ลำปางนิยม” โดยให้สถาบันอุดมศึกษา สร้างความภาคภูมิใจให้คนลำปาง สร้างเมืองลำปางด้วยสติปัญญาและความรัก จะทำให้สามารถพัฒนาจังหวัดลำปางในมิติต่าง .-สำนักข่าวไทย

สกสว. พร้อมใช้งบปี 65 พัฒนาขีดความสามารถ-แก้วิกฤตชาติ

กทม. 11 พ.ย.63 – สกสว.เปิดเวทีชี้แจงงบอุดหนุนงานวิจัยนวัตกรรม 2.4 หมื่นล้านปี 2565 ตั้งเป้าใช้เร่งพัฒนาขีดความสามารถ-แก้วิกฤตชาติ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคม ยืนยันใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ สกสว. เปิดเวทีแจงแนวทางปฏิบัติเพื่อเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณ ววน. ปี 65 จำนวน 24,000 ล้านบาท เชิญชวนประชาคมวิจัยสร้างความเข้าใจร่วมกันผ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-book) การยื่นคำของบประมาณด้าน ววน. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สุทธิพร  จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เปิดเผยว่า สกสว. ขานรับนโยบายมุ่งสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ให้เป็นทั้งคนเก่งและคนดี รองรับการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และวิถีชีวิต โดยเฉพาะทักษะที่จำเป็นต่อชีวิตในยุคปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งเพิ่มคุณลักษณะที่สังคมไทยต้องการ เช่น คุณธรรมจริยธรรม ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย ภูมิคุ้มกันทางใจ เป็นต้น ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่จำเป็นสำหรับการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขในสังคม และเพื่อสานต่อภารกิจเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง และแก้ไขวิกฤตประเทศ โดยปี 2564 ได้รับอนุมัติงบประมาณ 19,917 ล้านบาท เน้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ […]

...