กทม. 11 พ.ย.63 – สกสว.เปิดเวทีชี้แจงงบอุดหนุนงานวิจัยนวัตกรรม 2.4 หมื่นล้านปี 2565 ตั้งเป้าใช้เร่งพัฒนาขีดความสามารถ-แก้วิกฤตชาติ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคม ยืนยันใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ
สกสว. เปิดเวทีแจงแนวทางปฏิบัติเพื่อเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณ ววน. ปี 65 จำนวน 24,000 ล้านบาท เชิญชวนประชาคมวิจัยสร้างความเข้าใจร่วมกันผ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-book) การยื่นคำของบประมาณด้าน ววน.
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เปิดเผยว่า สกสว. ขานรับนโยบายมุ่งสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ให้เป็นทั้งคนเก่งและคนดี รองรับการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และวิถีชีวิต โดยเฉพาะทักษะที่จำเป็นต่อชีวิตในยุคปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งเพิ่มคุณลักษณะที่สังคมไทยต้องการ เช่น คุณธรรมจริยธรรม ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย ภูมิคุ้มกันทางใจ เป็นต้น ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่จำเป็นสำหรับการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขในสังคม และเพื่อสานต่อภารกิจเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง และแก้ไขวิกฤตประเทศ
โดยปี 2564 ได้รับอนุมัติงบประมาณ 19,917 ล้านบาท เน้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสาธารณสุข ในขณะที่ปี 2563 ได้รับงบประมาณ 12,555 ล้านบาท ผลักดันหลายโครงการประสบความสำเร็จ เช่น พัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยที่สามารถตรวจวินิจฉัย SARS-CoV-2 ด้วยวิธี Real-Time PCR ที่สามารถตรวจจากสารคัดหลั่งที่เก็บได้ง่าย เพิ่มความปลอดภัยกับผู้ปฏิบัติงาน ลดขั้นตอนการสกัดสารพันธุกรรมทำให้การตรวจวินิจฉัยมีความรวดเร็ว ประหยัด และปลอดภัย, ชุดตรวจแลมป์เปลี่ยนสีสำหรับการตรวจคัดกรองโควิด-19 โดยพัฒนาปรับปรุงชุดตรวจคัดกรองจนมีประสิทธิภาพสูง ทราบผลภายใน 1 ชั่วโมง มีต้นทุนการวิเคราะห์ถูก, ชุด PPE และอุปกรณ์ป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อใช้ในประเทศ และสร้างนวัตกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ภายในประเทศซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน ทำให้ประเทศไทยพึ่งพาตนเองได้ในสภาวะวิกฤต สามารถทดแทนการนำเข้าได้ถึง 300 ล้านบาทต่อปี
รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวว่า สกสว. มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน ขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ให้หน่วยงานต่าง ๆ สร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศและสอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ มุ่งนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและยกระดับศักยภาพประเทศให้พัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งงานประชุมชี้แจงระบบแผนแนวทางการจัดทำคำขอและการขอรับการจัดสรรงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ 2565 เพื่อสร้างความเข้าใจในการยื่นขอเสนองบประมาณแก่หน่วยงานที่สนใจ ภายใต้กรอบงบประมาณปี 2565 จำนวน 24,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 22.50 (4,483 ล้านบาท)
โดยภายใต้กรอบงบประมาณฯ มีแผนงานต่อเนื่องใน 4 แพลตฟอร์ม และโปรแกรมการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ตามแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม พ.ศ. 2563 – 2565 (ฉบับปรับปรุง) ประกอบด้วย แพลตฟอร์มที่ 1 การพัฒนากำลังคน ยกระดับสถาบันความรู้ และระบบนิเวศด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เน้นการพัฒนากำลังคน สถาบันความรู้ การวิจัยขั้นแนวหน้า ดิจิทัล รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure: NQI)
แพลตฟอร์มที่ 2 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม มุ่งเน้นการบริหารจัดการน้ำ และคุณภาพสิ่งแวดล้อม ,แพลตฟอร์มที่ 3 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมทั้งยกระดับการพึ่งพาตนเองในระดับประเทศ มุ่งเน้นประเด็น SMEs Startup, Genomics และ BCG เพื่อนำพาประเทศไทยให้มีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมเพื่อก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ไปพร้อมๆ กัน โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นกลไกขับเคลื่อน
และแพลตฟอร์มที่ 4 การวิจัยและสร้างนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ มุ่งเน้นงานวิจัยและนวัตกรรมเชิงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชน ซึ่งในปี 2565 นี้ได้เพิ่มโปรแกรมการแก้ไขปัญหาวิกฤตเร่งด่วนของประเทศ โดยมีแผนงานใหม่เพิ่มเติม เช่น แผนงานธรรมาภิบาลการบริหารจัดการภาครัฐและลดคอรัปชั่น, แผนงานด้านนวัตกรรมเพื่อพัฒนาระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต, แผนงานด้านมนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์, แผนงานด้านการพึ่งพาตนเองทางเทคโนโลยีเพื่อความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ, แผนงานด้าน Open Society
ซึ่งการดำเนินงานของ สกสว. จะสอดคล้องกับการตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ สนับสนุนกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง โดยยังเน้นการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้โดยกลไกสาธารณะ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สาธารณชนได้ว่าการจัดสรรเงินงบประมาณจากภาษีของประชาชน ได้นำมาจัดสรรเป็นงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมอย่างคุ้มค่า และมีประสิทธิภาพ
ศาสตราจารย์ ดร. สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจบริหารระบบงบประมาณ สกสว. กล่าวว่า สำหรับแนวทางการจัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ปี 2564-2566 ได้กำหนดแนวทางการบริหารงบประมาณแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ เช่น มีการจัดสรรงบประมาณแบบวงเงินรวม (Block Grant) มีความคล่องตัวและยืดหยุ่นทันต่อการเปลี่ยนแปลงของประเทศ จัดสรรงบประมาณแบบต่อเนื่องแบบหลายปี (Multi-year Budgeting) มีการพิจารณาผลการทำงานแต่ละแพลตฟอร์มของปีที่ผ่านมาและมีการจัดลำดับความสำคัญ (Priority) เป็นต้น โดยใช้ระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติเชื่อมโยงข้อมูลทุกระดับ เพื่อลดความซ้ำซ้อนของงาน สกสว.
แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1. ทุนสนับสนุนงานพื้นฐาน ที่แบ่งย่อยออกเป็น Basic Research Fund ที่จะจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนงานวิจัยพื้นฐานที่เป็นการพัฒนานักวิจัย และสร้างความเข้มแข็งของงานวิจัยให้กับสถาบันอุดมศึกษา และ Function-based Research Fund จัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานที่มีภารกิจเฉพาะ ที่ไม่ใช่สถาบันอุดมศึกษา เพื่อสร้างความเข้มแข็งของหน่วยงาน และตอบสนองพันธกิจของหน่วยงานเพื่อประชาชน ซึ่งทุนสนับสนุนงานพื้นฐาน สามารถยื่นข้อเสนอโครงการผ่านหน่วยงานต้นสังกัดภายใต้คําของบประมาณของหน่วยงาน ผ่านระบบ National Research Innovation Information System (NRIIS) ได้ที่ เว็บไซต์ www.nriis.in.th ระหว่างวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 ถึง 9 ธันวาคม 2563 และ 2. ทุนสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ โดยจัดสรรงบประมาณตาม 4 แพลตฟอร์ม 17 โปรแกรมดังกล่าวข้างต้น ซึ่งบริหารจัดการโดยหน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) เป็นการทำงานวิจัยที่เน้นตอบยุทธศาสตร์ของประเทศ โดยสามารถยื่นข้อเสนอโครงการได้ตลอดทั้งปีผ่าน 7 PMU ตามโปรแกรม สำหรับสัดส่วนงบประมาณระหว่างทุนสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ ต่อทุนสนับสนุนงานพื้นฐานอยู่ที่ 60: 40 .-สำนักข่าวไทย