สำนักข่าวไทย 21 ธ.ค. – 21 ธันวาคม นี้ เป็นวัน “เหมายัน” ที่มีช่วงเวลากลางคืนยาวที่สุดในรอบปี! สำหรับประเทศไทย ในวันดังกล่าวดวงอาทิตย์ขึ้น 06:36 น. และตกเวลาประมาณ 17:55 น. แต่รู้ไหมว่านอกจากปรากฏการณ์แบบนี้ ยังมีปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวกับการขึ้น – ตก ของดวงอาทิตย์อะไรอีกบ้าง ไปดูกันค่ะ
เวลากลางวัน-กลางคืน นั้นเกิดจากการที่โลกหมุนรอบตัวเอง และในขณะเดียวกันโลกก็โคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วย ซึ่งแกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแกนตั้งฉากระนาบวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ ทำให้บริเวณต่าง ๆ ของโลกในแต่ละช่วงของปีได้รับแสงจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากันจนเกิดเป็นฤดูกาลต่าง ๆ โดยในระยะเวลา 1 ปี ที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์นั้นจะเกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวกับการขึ้น – ตก ของดวงอาทิตย์ทั้งหมด 4 ครั้ง ดังนี้
1. วันวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox)
เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับผิวโลกที่เส้นศูนย์สูตร ทำให้เวลาตอนกลางคืนเท่ากับเวลาตอนกลางวัน ตรงกับวันที่ 21 มี.ค. ของทุกปี เรียกอีกอย่างว่า “วันราตรีเสมอภาค” เป็นเวลาที่ซีกโลกเหนือ เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ และซีกโลกใต้ เข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง
2. วันครีษมายัน (Summer Solstice)
เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับผิวโลกที่ละติจูด 23.5 องศาเหนือ ตรงกับวันที่ 21 มิ.ย.หรือ 22 มิ.ย.ในปีอสุธิกมาส เป็นวันแรกในฤดูร้อนของซีกโลกเหนือ โดยจะมีช่วงเวลากลางวันยาวที่สุด กับกลางคืนสั้นที่สุดในรอบปี ส่วนซีกโลกใต้นั้นวันแรกที่เข้าสู่ฤดูหนาว โดยจะมีช่วงเวลากลางวันสั้นที่สุดและกลางคืนยาวที่สุด
3.วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox)
เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับผิวโลกที่เส้นศูนย์สูตร ทำให้เวลาตอนกลางคืนเท่ากับเวลากลางวัน ตรงกับวันที่ 23 ก.ย. โดยในซีกโลกเหนือนั้นเป็นวันแรกในฤดูใบไม้ร่วง ส่วนซีกโลกใต้นั้นเป็นวันแรกที่เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ
4.วันเหมายัน (Winter Solstice)
เป็นวันที่เวลากลางคืนยาวที่สุดในรอบปี ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด หรือที่คนไทยเรียกว่า “ตะวันอ้อมข้าว” สำหรับประเทศไทยตรงกับวันที่ 21 ธ.ค.หรือ 22 ธ.ค.ในปีอสุธิกมาส โดยในปี้นี้ (พ.ศ. 2563) ในประเทศไทยดวงอาทิตย์จะขึ้นเวลา 06:36 น. และตกเวลาประมาณ 17:55 น. ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันสั้นที่สุดและกลางคืนยาวที่สุดในรอบปี โดยมีเวลาช่วงกลางวันเพียง 11 ชั่วโมง 19 นาที ทั้งนี้ประเทศทางซีกโลกเหนือจะนับเป็นวันที่เข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้จะเป็นช่วงเวลากลางวันจะยาวที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน
นอกจากนี้ ในวันที่ 21 ธันวาคม 2563 สามารถชมความสวยงามของปรากฏการณ์ “ดาวพฤหัสบดีเคียงดาวเสาร์” ใกล้ที่สุดในรอบ 397 ปี หรือเรียกว่า “The Great Conjunction 2020” ได้ โดยดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ปรากฏใกล้กันที่สุดห่างเพียง 0.1 องศา มองเห็นได้หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าถึงเวลาประมาณ 19:30 น. เท่านั้น หากดูด้วยตาเปล่าจะเห็นเหมือนจุดสว่าง แต่หากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายไม่เกิน 200 เท่า จะเห็นดาวเคราะห์ทั้งสองพร้อมดวงจันทร์บริวารอยู่ในช่องมองภาพเดียวกัน.-สำนักข่าวไทย
ขอบคุณข้อมูลจาก : 21 ธันวาคมนี้ “วันเหมายัน” กลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 21 ธันวาคม 2563, จาก http://www.narit.or.th/index.php/news/1442-narit-winter-solstice-2563