กรุงเทพฯ 14 ธ.ค. – ไทยไปแน่ผลิตรถอีวี เตือนทุกฝ่ายทั้งธุรกิจโรงกลั่นฯ ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ ปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่ ด้าน ก.พลังงาน ระดมสมองฟังความเห็นเป็นแผนพลังงานชาติ รับทั้งเทคโนโลยีใหม่ พลังงานทดแทน ดิจิทัล คาร์บอนเป็นศูนย์ ยอมรับโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงใหม่คงไม่เกิด
กระทรวงพลังงานจัดเวิร์คช็อป “คนพลังงานร่วมใจ สู่ทิศทางไทยในอนาคต” นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้ระดม สมองขับเคลื่อน แผนพลังงานชาติ ที่ดูถึงแผน 20 ปี และแผนระยะสั้น 5-10 ปี เป้าหมายจัดทำแผนเสร็จภายในเดือน 6 เดือนข้างหน้า หรือเดือนเมษายน 64 ซึ่งเป็นการปรับแผนรับการเปลี่ยนแปลงของทั้งเศรษฐกิจโลกจากโควิด-19การสร้างความสามารถการแข่งขันของประเทศ การปรับตัวเทคโนโลยีใหม่ เช่น พลังงานทดแทน ยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) , เทคโนโลยีดิจิทัล หรือ 5G ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงธุรกิจภาคพลังงาน ดังนั้น การจัดทำแผนจะทำให้เห็นภาพว่าธุรกิจต่างๆ ทั้ง โรงกลั่น เชื้อเพลิงชีวภาพ ก๊าซฯ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวอย่างไร
นอกจากนี้ แผนดังกล่าวจะดูไปถึงการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ให้เป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emissions) ซึ่งไทยจำเป็นต้องกำหนดว่าจะเป็นปีใดหลังจากสหรัฐฯ และยุโรปกำหนดไว้ปี 2050 (ปีพ.ศ.2593) จีนปี 2060 ขณะเดียวกันแผนที่จัดทำจะต้องสอดรับกับนโยบายของอาเซียนที่ได้กำหนดเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนเป็นร้อยละ 35 ในปี 2573
“แผนพลังงานฯที่จะจัดทำใหม่นั้นจะไม่มีการพิจารณาเพิ่มสัดส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินจากที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย(พีดีพี)ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 แต่อย่างใด ขณะเดียวกันจะพิจารณาปลดระวางโรงไฟฟ้าเก่าที่ไม่มีประสิทธิภาพซึ่งจะมีส่วนการลดสำรองไฟฟ้าที่มีสูงขึ้นถึง 30-40% อย่างไรก็ตามสำรองไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากผลกระทบโควิด-19 หากพิจารณาที่อนาคตจะมีรถอีวี รถไฟฟ้า 13 สาย การเข้ามาของเทคโนโลยี 5G ก็จะส่งผลให้การใช้ไฟสูงขึ้นได้สำรองนี้อาจไม่เป็นปัญหาก็ได้ในระยะต่อไป” นายกุลิศกล่าว
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า โควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจทั่วโลกและความต้องการใช้พลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป ปี 64 สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ หนี้ครัวเรือนที่สูง เงินบาทที่แข็งค่า ส่วนวัคซีนของไทยจะได้รับในกลางปี 64 ดังนั้นการท่องเที่ยวของไทยจะกลับมาสู่ระดับปกติได้ในปี 66-67 ในขณะที่การลงทุนจะต้องปรับตามภาพที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการผลิตอีวี ไทยจะต้องปรับโครงสร้างทั้งพลังงาน และการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รองรับ โดยรัฐบาลกำลังวางแผนเพราะมีทั้งผู้ได้รับผลกระทบและได้รับผลบวกจากส่วนนี้
“รัฐวิสาหกิจของไทย เช่น บมจ.ปตท.ต้องเป็นตัวดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ ในอนาคต ส่วน 3 การไฟฟ้าก็ต้องปรับตัวรับโครงสร้างพลังงานใหม่ ทั้งอีวี ระบบแบตเตอรี่ ESS ซึ่งการที่รัฐวิสาหกิจมีขั้นตอนการอนุมัติที่ล่าช้า บทบาทของเอกชนก็จะมีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสถานีไฟฟ้าย่อย และการขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนด้วยกัน “นายดนุชา กล่าว
สำหรับธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน ในระยะยาว อีวีจะเข้ามาทดแทนน้ำมันเบนซิน ธุรกิจน้ำมันก็จะเหลือเฉพาะดีเซล และน้ำมันอากาศยานเป็นหลัก หรือหากอีวีนำมาใช้ได้ในรถบรรทุก การผลิตดีเซลก็จะลดน้อยลงไปอีก ดังนั้น โรงกลั่นฯก็ต้องปรับตัว
ในส่วนของระบบไฟฟ้า โครงสร้างราคาก็ต้องมีการปรับให้เหมาะสม ตามต้นทุนพลังงานทดแทนและราคา ESS ที่ลดลง ในขณะที่ รถใช้NGV คงหมดไป ในขณะที่ การใช้ไฟฟ้าในส่วนของอีวี และระบบรางจะเพิ่มขึ้น การใช้ไฟฟ้า ยังคงมีต่อเนื่อง และแอลเอ็นจีหรือก๊าซธรรมชาติเหลว จะมีบทบาท ซึ่งการบริหารตลาดก๊าซฯ จึงต้องดูช่วงจังหวะ ว่าหากแอลเอ็นจีตลาดโลกราคาถูกก็ควรนำเข้า แล้วเก็บก๊าซฯในอ่าวไทย เอาไว้ผลิตปิโตรเคมีเป็นหลัก
นาย สมโภชน์ อาหุนัย รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เสนอว่ารัฐบาล ควรจะจัดตั้งกองทุนพลังงานสร้างชาติ 2 ล้านล้านบาท เพื่อรองรับการส่งเสริมอีวี ซึ่งหากเปลี่ยนได้ทั้งหมด รัฐจะประหยัดพลังงานได้ปีละ 1 แสนล้านบาท กองทุนดังกล่าวก็ควรจะมาจากการออกพันธบัตรของรัฐบาล 30 ปี ประโยชน์ที่ได้ก็จะเป็นทั้งเรื่องการลดมลพิษ ลด pm2.5สร้างความสามารถการแข่งขันของประเทศ ซึ่งกองทุนฯส่วนนี้จะนำมาใช้สำหรับการเปลี่ยนระบบเป็นอีวี 2 แสนล้านบาท และ อี 1.8 ล้านล้านบาทนำไปใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ รวมทั้ง ส่วนหนึ่งนำไปเยียวยากับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ ในขณะที่โรงกลั่นฯก็ต้องปรับตัวไปสู่ปิโตรเคมี เช่น Oleochemicals สารเคมีที่เป็นอนุพันธ์ของน้ำมันชีวภาพหรือไขมันชีวภาพ ในขณะที่พืชพลังงาน ก็เน้นการสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ชุมชนเป็นหลัก . – สำนักข่าวไทย