กรุงเทพฯ 9 ธ.ค. – EIC ปรับตัวเลขจีดีพีปี 63 ติดลบน้อยลงเหลือ -6.5% และบวก 3.8% ในปี 64 ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังจำเป็นต้องใช้ต่อเนื่องไปจนถึงครึ่งปีแรก ชี้รัฐยังกู้เพิ่มได้แม้เกินเพดานที่กำหนดไว้
นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (จำกัด) มหาชน กล่าวว่า EIC ประเมินจีดีพี 2563 หดตัวน้อยลงกว่าคาดที่ -6.5% จากเดิมคาดว่า -7.8% เนื่องจากมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ 4 มาตรการ คือ เราเที่ยวด้วยกัน ,คนละครึ่ง ,ช้อปดีมีคืน และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ช่วยกระตุ้นจีดีพี 0.53% รวมทั้งจากการฟื้นตัวของเอกชนในช่วงไตรมาส 3
ขณะที่ปี 2564 คาดเศรษฐกิจจะขยายตัว 3.8% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก มาตรการภาครัฐและวัคซีน คาดว่าไทยจะเริ่มได้รับวัคซีนเดือนมิถุนายนปี 2564 ขณะที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่ามีประมาณ 8 ล้านคน โดยตัวเลขจะเริ่มชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลังหรือช่วงไตรมาส 4
ทั้งนี้ มองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตลอดทั้งปี 2564 ไว้ที่ 0.5% ควบคู่กับการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเมื่อจำเป็น เพื่อดูแลอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งการใช้มาตรการเฉพาะจุดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนทิศทางค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น โดยมองกรอบสิ้นปี 2564 อยู่ที่ 29.5-30.5 บาท/ดอลลาร์ฯ
ส่วนความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยปี 2564 คือ ความเปราะบางของตลาดแรงงาน ที่มองว่าอัตราการว่างงานยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และผู้ที่มีงานทำชั่วโมงการทำงานลดลงส่งผลต่อรายได้ สะท้อนจากการปิดกิจการที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่การเปิดกิจการใหม่ยังซบเซา นอกจากนี้ ยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนระดับสูง ดังนั้น ครึ่งปีแรกยังจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากภาครัฐต่อเนื่อง โดยอาจให้น้ำหนักไปที่การฟื้นฟู ทั้งสร้างงาน การเพิ่มทักษะแรงงาน และการผลักดันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าสู่อุตสาหกรรมแบบ New S-Curve
ทั้งนี้ มองว่าเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งขณะนี้ใช้ไปแล้ว 500,000 ล้านบาท ยังเหลืออีก 500,000 ล้านบาทสำหรับปี 2564 นั้น ยังเพียงพอหากกลางปีไทยได้รับวัคซีนตามที่คาดไว้ แต่หากวัคซีนล่าช้ารัฐบาลก็ยังสามารถกู้เพิ่มได้ แม้จะเกินเพดานหนี้สาธารณะที่ 60% ของจีดีพี เพราะเพดานดังกล่าวเป็นเพดานที่กำหนดไว้ในช่วงภาวะปกติ
ส่วนกรณีที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศเพิ่มสูงขึ้น มองว่าอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของคนในพื้นที่ แต่ยังเกิดในวงจำกัดจึงไม่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม เนื่องจากคนไทยยังสามารถเดินทางท่องเที่ยวในภาคอื่นได้ แต่หากไม่สามารถควบคุมและเกิดการแพร่ระบาดในวงกว้างก็อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมแต่เชื่อว่าจะไม่รุนแรงเหมือนการระบาดในรอบแรก.-สำนักข่าวไทย