กรุงเทพฯ 14 ก.ย. – EIC หั่นจีดีพีปีนี้หดตัว 7.8% จากเดิมคาดหดตัว 7.3% โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเป็นไปอย่างช้า ๆ ท่ามกลางความเสี่ยงสำคัญหลายด้านโดยเฉพาะความเปราะบางในตลาดแรงงานและการปิดกิจการของธุรกิจที่โน้มสูงขึ้น
นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2 ตามการผ่อนคลายของมาตรการปิดเมือง โดยได้รับแรงสนับสนุนหลักจากมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ การหดตัวที่ลดลงของภาคส่งออกสินค้า ตลอดจนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งมีส่วนช่วยประคับประคองการบริโภคภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ไว้ว่าการฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างช้า ๆ คาดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้เหลือเพียง 6.7 ล้านคน ตามนโยบายควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังไม่มีแนวโน้มผ่อนคลาย ประกอบกับเม็ดเงินช่วยเหลือจากภาครัฐภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่มีแนวโน้มเข้าสู่เศรษฐกิจปีนี้น้อยกว่าที่คาดประมาณ 500,000 ล้านบาท จากเดิมที่คาดประมาณ 600,000 ล้านบาท รวมถึงเม็ดเงินช่วยเหลือที่จะน้อยลงมากในช่วงครึ่งหลังของปี ทำให้เกิดปัญหาหน้าผาทางการและอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนบางกลุ่มที่ยังต้องการความช่วยเหลือต่อเนื่อง โดยปัจจัยทั้ง 2 ข้างต้น เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 เป็นติดลบ 7.8% ขณะที่ปี 2564 จะขยายตัวประมาณ 3.5% อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดอีกระลอกของโควิด-19ในประเทศคู่ค้าหลัก เป็นอีกปัจจัยที่อาจชะลอการฟื้นตัวของภาคการส่งออกไทย โดยปีนี้คาดมูลค่าส่งออกหดตัวที่ 10.4%
นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีอุปสรรคจากแผลเป็นทางเศรษฐกิจ ประกอบด้วยการปิดกิจการในภาคธุรกิจที่เร่งตัวขึ้นและความเปราะบางในตลาดแรงงาน สะท้อนจากตัวเลขอัตราว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น ในช่วงไตรมาส 2 อัตราว่างงานของไทยเพิ่มสูงขึ้นถึง 1.95% นับเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปี และจำนวนชั่วโมงการทำงานรวมที่ลดลงมาก อีกทั้งพฤติกรรมการออมเพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต และความจำเป็นในการซ่อมแซมงบดุลที่ได้รับผลกระทบของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศทั้งการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนจะเป็นไปอย่างช้า ๆ
ทั้งนี้ จากความอ่อนแอของเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนที่ยังมีอยู่มาก EIC คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง โดยจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ควบคู่กับการใช้มาตรการอื่น ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการส่งผ่านผลของนโยบายการเงินไปยังเศรษฐกิจจริง ในส่วนของค่าเงินบาท EIC คงมุมมองอัตราแลกเปลี่ยน ณ สิ้นปี 2563 จะอยู่ในช่วง 30.50-31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นทิศทางแข็งค่าเล็กน้อยจากปัจจุบัน เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามการพื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และการดำเนินนโยบายการคลังที่มีแนวโน้มขาดดุลมากขึ้นของสหรัฐ อีกทั้งเงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลเข้าตลาดเกิดใหม่รวมถึงตลาดการเงินไทยในระยะต่อไป.-สำนักข่าวไทย