กรุงเทพฯ 19 พ.ย. – SCB EIC ประเมินว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อเนื่องในปี 2021 จากเศรษฐกิจไทยที่ในปี 2020 มีแนวโน้มหดตัวน้อยกว่าประมาณการเดิม
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่าโอกาสที่ กนง. จะจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อเนื่องในปี 2021 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยที่ในปีนี้มีแนวโน้มหดตัวน้อยกว่าประมาณการเดิมของ EIC และ ธปท. ที่ -7.8% เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 หดตัวน้อยลงจากไตรมาสก่อนหน้าค่อนข้างมากจาก -12.1% มาอยู่ที่ -6.4% จากการฟื้นตัวที่เร็วกว่าคาดของการใช้จ่ายเพื่อบริภาคภาคเอกชนที่หดตัวเพียง -0.6% จากไตรมาสก่อนที่หดตัวถึง -6.8% สะท้อนการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ รวมถึงการบริโภคและการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัว จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐที่ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่แนวโน้มความสำเร็จของการผลิตวัคซีน COVID-19 จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปีหน้า ซึ่ง EICประเมินว่า วัคซีนจะถูกแจกจ่ายเป็นวงกว้างจนก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 และกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2021 ปัจจัยข้างต้นนี้จะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและครัวเรือนฟื้นตัวซึ่งเป็นสิ่งสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยในระยะต่อไป
ด้านสินเชื่อภาคธุรกิจ SMEs ยังคงหดตัวและความเข้มงวดของมาตรฐานการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจมีแนวโน้มสูงขึ้น ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non-PerformingLoan: NPL) ยังคงปรับสูงขึ้น แต่มาตรการการปรับโครงสร้างหนี้มีส่วนช่วยให้ NPL ไม่ปรับสูงขึ้นมาก โดยภาพรวม NPL ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาส 3 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.14% (จาก 3.09% ในไตรมาส 2/2020) จากสัดส่วน NPL ของภาคธุรกิจที่ปรับเพิ่มขึ้นจาก 3.07% มาอยู่ที่ 3.24% ซึ่งปรับแย่ลงทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และ SMEs อย่างไรก็ดีสัดส่วน NPL ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่องจาก 3.12% มาอยู่ที่ 2.91% โดยเป็นการปรับลดลงของสินเชื่ออุปโภคบริโภคทุกประเภท ซึ่งเป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ และการบริหารหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น ธปท. จึงมีแนวโน้มที่จะดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงอาจพิจารณาใช้มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการหนี้เสีย
ส่วนค่าเงินบาทตั้งแต่สิ้นเดือนตุลาคมจนถึงปัจจุบัน แข็งค่าถึง 3.3% ซึ่งเป็นการแข็งค่าอันดับที่สองในภูมิภาค เป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ปรับสูงขึ้นหลังจากมีข่าวดีเกี่ยวกับการพัฒนาการผลิตวัคซีน COVID-19 ทำให้มีเงินไหลเข้ากลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะไทยที่ยังมีเสถียรภาพต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีทำให้นักลงทุนยังมีความเชื่อมั่นต่อสินทรัพย์ไทย ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาทนี้อาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ธปท. จึงอาจพิจารณาดำเนินมาตรการทางการเงินเพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาท โดยนโยบายด้านการคลังอาจเข้ามามีส่วนช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้ในระยะต่อไป . – สำนักข่าวไทย