ฮ่องกง 16 พ.ย.- นักวิเคราะห์ทางการค้าชี้ว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรืออาร์เซ็ป (RCEP) ที่ 15 ประเทศในเอเชียแปซิฟิกเพิ่งลงนามไปเมื่อวานนี้อาจกระตุ้นให้ออสเตรเลียและจีนแก้ไขข้อพิพาททางการค้า แต่ไม่น่าจะเยียวยาความสัมพันธ์ได้โดยตรง
นายไซมอน เบอร์มิงแฮม รัฐมนตรีการค้าออสเตรเลียแสดงความหวังก่อนที่สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนปิดฉากการประชุมสุดยอดครั้งที่ 37 แบบทางไกลกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์วานนี้ โดยมีเวียดนามเป็นเจ้าภาพว่า เวทีอาเซียนจะช่วยให้ความสัมพันธ์ออสเตรเลียกับจีนเปลี่ยนไปในทางสร้างสรรค์ได้ นักสังเกตการณ์ส่วนใหญ่มองว่า การลงนามอาร์เซ็ปที่ใช้เวลาเจรจานาน 8 ปี อาจช่วยให้ข้อพิพาทการค้าออสเตรเลีย-จีนที่ดำเนินมานาน 7 เดือนได้หยุดพักชั่วคราว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่กลไกแก้ไขข้อพิพาทขององค์การการค้าโลกยังคงไม่ได้ผล เพราะโครงสร้างที่ตั้งขึ้นตามการเปิดเสรีของอาร์เซ็ปจะเปิดเวทีใหม่ให้แก่การเจรจาในเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน และแก้ไขความขัดแย้งทางการค้าในเชิงเทคนิค แต่จะไม่มีระเบียบที่ละเอียดมากพอสำหรับแก้ไขประเด็นซับซ้อนทางการค้า เพราะเป็นข้อตกลงเขตการค้าเสรี 15 ชาติ ไม่ใช่เฉพาะออสเตรเลีย-จีน อาร์เซ็ปจะมุ่งเรื่องเปิดตลาด ลดภาษี มากกว่าเรื่องระเบียบขั้นตอน
ด้านนายคริสโตเฟอร์ แลงแมน รัฐมนตรีช่วยการค้าและต่างประเทศออสเตรเลียมองว่า การลงนามอาร์เซ็ปควรส่งสัญญาณทั้งต่อออสเตรเลียและจีนให้ค้าขายกันตามกฎเกณฑ์และเป็นไปอย่างเท่าเทียม การเปิดเสรีการค้าและความร่วมมือไม่ได้สำคัญต่อสองประเทศเท่านั้น แต่ต่อทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 แพร่ระบาด ออสเตรเลียและจีนมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าด้วยดีมายาวนาน แต่ขณะนี้เกิดประเด็นบางอย่างที่กระทบสินค้าส่งออกออสเตรเลียไปจีน เพราะเมื่อใดที่การค้าถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ความเชื่อมมั่นทางธุรกิจย่อมถูกบั่นทอนและเดือดร้อนกันทุกฝ่าย.- สำนักข่าวไทย