กทม. 11 พ.ย. 63 – พบซากดึกดำบรรพ์ปลาปอดชนิดใหม่ของโลก “เฟอร์กาโนเซอราโตดัส แอนเคมเป” ในพื้นที่ตำบลดินจี่ อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ อายุกว่า 150 ล้านปี
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณี แถลงผลการศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ปลาปอดชนิดใหม่ของโลก ถูกค้นพบที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย จังหวัดกาฬสินธุ์
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ผลการศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ปลาปอดชนิดใหม่ของโลก “เฟอร์กาโนเซอราโตดัส แอนเคมเป” ถูกค้นพบที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย จังหวัดกาฬสินธุ์ จัดเป็นปลาโบราณที่พบมาตั้งแต่ 417 ล้านปี มีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถหายใจด้วยปอดร่วมกับการหายใจด้วยเหงือก เป็นผลการศึกษาวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญด้านซากดึกดำบรรพ์ปลาของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติเจนีวา ร่วมกับ ภาควิชาชีววิทยาและศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และพิพิธภัณฑ์สิรินธร กรมทรัพยากรธรณี
โดยพบรูปสัณฐานของส่วนกะโหลกและแผ่นฟันปลาปอดที่พบบริเวณภูน้อย จัดอยู่ในสกุล เฟอกาโนเซอราโตดัส แต่มีความแตกต่างจากชนิดอื่น ตั้งชื่อว่า ปลาปอด เฟอร์กาโนเซอราโตดัส แอนเคมเป (Ferganoceratodus annekempae) โดยพบชิ้นส่วนซากดึกดำบรรพ์ ประกอบด้วย ชิ้นส่วนของกะโหลกและแผ่นฟัน ซึ่งคาดเป็นชิ้นส่วนจากปลาตัวเดียวกันที่เคยพบในบริเวณแหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ จัดเป็นปลาโบราณที่พบปรากฏมาเมื่อ 417 ล้านปี หรือในยุคดีโวเนียน
โดยปลาปอดที่พบครั้งนี้มีอายุประมาณ 150 ล้านปี มีลักษณะของพิเศษ สามารถหายใจด้วยปอดร่วมกับการหายใจด้วยเหงือก ครีบอก และครีบท้องมีลักษณะเป็นเนื้อหุ้ม ลำตัวปกคลุมด้วยเกล็ดแบบคอสมอยด์ ฟันมีลักษณะเป็นแผ่นฟัน โดยจากข้อมูลด้านซากดึกดำบรรพ์ปลาปอดสกุลเฟอร์กาโนเซอราโตดัส นับเป็นซากดึกดำบรรพ์ที่หายาก โดยเฉพาะส่วนกะโหลก ที่ผ่านมาสกุลนี้พบในจีน รัสเซีย และไทยเท่านั้น ซึ่งมีความสำคัญต่อการศึกษาวิวัฒนาการและถิ่นอาศัยในอดีตของปลาปอดของโลก
นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า ซากดึกดำบรรพ์ มีความสำคัญในการศึกษาธรณีวิทยาด้านการลำดับชั้นหินและธรณีประวัติ เพื่อให้เกิดความเข้าใจเหตุการณ์แต่ละขั้นตอนที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา นำไปสู่การค้นหาตำแหน่งทรัพยากรธรณีที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ส่วนผลการวิจัยสำคัญต่อการศึกษาวิวัฒนาการและถิ่นอาศัยในอดีตของปลาปอดของโลก และเป็นหลักฐานแสดงถึงความหลากหลายทางชีวภาพของแหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย ในหมวดหินภูกระดึง กลุ่มหินโคราช ยุคจูแรสซิกตอนปลาย ซึ่งพบ New Species ของสัตว์มีกระดูกสันหลังร่วมสมัย 6 สายพันธุ์ใหม่ของโลก คือ ฉลามน้ำจืด ปลากระดูกแข็ง ปลาปอด เต่า และจระเข้ ถือเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก และเป็นแหล่งที่มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลังมากที่สุดในประเทศไทยกว่า 5,000 ชิ้น นับว่ามีความสำคัญต่อการศึกษาวิวัฒนาการและถิ่นอาศัยในอดีตของปลาปอดของโลก
อย่างไรก็ตาม ผลงานการศึกษาวิจัยจากกรมทรัพยากรธรณี ค้นพบซากดึกดำบรรพ์ชนิดและสกุลใหม่ของไทยและของโลก จำนวนทั้งสิ้น 595 ชนิด แบ่งเป็น สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง 333 ชนิด สัตว์มีกระดูกสันหลัง 110 ชนิด พืช 48 ชนิด และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอื่น ๆ 104 ชนิด เช่น
- ซากดึกดำบรรพ์ “แม่เมาะซิออน โพธิสัตย์ติ” หรือ หมาหมี อายุ 13 ล้านปี พบที่เหมืองถ่านหินแม่เมาะ จังหวัดลำปาง พบในปี พ.ศ. 2549
- ซากดึกดำบรรพ์อุรังอุตัง “เอปโคราช” อายุ 9 – 7 ล้านปี พบที่อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา
- ซากดึกดำบรรพ์ “ไฮยีนาลายจุด” อายุ 200,000 – 80,000 ปี พบที่ถ้ำเขายายรวก จังหวัดกระบี่
- ซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์สายพันธุ์ไทย จำนวน 12 สายพันธุ์ .-สำนักข่าวไทย