กรุงเทพฯ 5 พ.ย. – อธิบดี คพ. เผยศูนย์การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจัดทำแผนปฏิบัติการลดผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่เกินมาตรฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูแล้งซึ่งจะมีไฟป่าและการเผาในที่โล่งแจ้งมาก พร้อมเตรียมยกระดับการป้องกันและแก้ปัญหาให้เข้มข้นในปี 2564
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ รองประธานคณะอนุกรรมการสื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศกล่าวว่า ศูนย์การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศพร้อมดำเนินงานบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่เกินมาตรฐานในหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้รัฐบาลได้เห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญมลพิษด้านฝุ่น ละออง” ซึ่ง 1 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถอดบทเรียนในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง หมอกควัน ไฟป่า และการเผาในที่โล่ง จากนั้นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ปรับปรุงแผนปฏิบัติการและแผนเฉพาะกิจในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง โดยปรับปรุงและเพิ่มเติมแนวทางการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ 3 มาตรการได้แก่ มาตรการที่ 1 การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ มาตรการที่ 2 การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) และ มาตรการที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษเป็นการพัฒนาระบบ เครื่องมือ กลไกการบริหารจัดการ การศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น สอดคล้องกับแหล่งกำเนิดหลักและสภาพแวดล้อมของพื้นที่
ทั้งนี้จะมีคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานได้แก่ คณะอนุกรรมการด้านวิชาการแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จัดทำแผนเฉพาะกิจ 12 มาตรการเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมือสถานการณ์โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติที่จะเกิดขึ้น ทั้งด้านการ สื่อสารสร้างการรับรู้ การบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า การสร้างเครือข่ายอาสาสมัคร การใช้เทคโนโลยีพยากรณ์ฝุ่นละออง การประเมินปริมาณฝุ่นละอองเชิงพื้นที่ การบัญชาการการดับไฟป่าและบริหารจัดการเชื้อเพลิง เร่งรัดการเพิ่มประสิทธิภาพการถ่ายโอน ภารกิจการควบคุมไฟป่าให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมถึงเจรจาสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งระดับอาเซียน ระดับทวิภาคีและระดับพื้นที่ชายแดน ที่สำคัญให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการประกอบด้วย คณะอนุกรรมการสื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอก ควัน และฝุ่นละอองภายใต้คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ
นายอรรถพล กล่าวต่อว่า แผนปฏิบัติการที่ปรับปรุงขึ้นนี้ ให้ความสำคัญต่อการสื่อสาร การรับรู้สู่สาธารณะ โดยประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีลงนามในคำสั่งอนุกรรมการสื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งมีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีหน้าที่กำหนดนโยบาย ทิศทาง แผนงาน และประเด็นการสื่อสารประชาสัมพันธ์การแก้ไข ปัญหามลพิษทางอากาศ รวบรวมและประสานข้อมูลจากส่วนราชการ หน่วยงานอื่นของภาครัฐ เอกชน และ ภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง สื่อสารประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชนในทุกช่องทางเพื่อ สร้างความเป็นเอกภาพ ด้านข้อมูลข่าวสารและสร้างความเชื่อมั่นแก่สาธารณชน ตรวจสอบและประเมินทัศนคติการรับรู้ของสาธารณชนต่อเหตุการณ์มลพิษทางอากาศ ประสานงานข้อมูลการร้องทุกข์หรือร้องเรียนจากประชาชนในด้านมลพิษทางอากาศ แต่งตั้งโฆษกเหตุการณ์ช่วงวิกฤตฝุ่นละออง แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการเฉพาะเรื่องได้ตามความจำเป็น ปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
นอกจากนี้นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งมีนโยบายให้ตั้งศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศแห่งนี้ขึ้น เน้นย้ำให้ศูนย์ทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบ เฝ้าระวังรวบรวมข้อมูลของเครือข่ายจากสถานีตรวจวัดคุณภาพ อากาศที่ตรวจวัดตามวิธีมาตรฐาน และรายงานสู่สาธารณะ
นายอรรถพล กล่าวถึงพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือซึ่งเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลห่วงใยและสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมสรรพกำลังแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ โดยนายกรัฐมนตรีมอบนโยบายเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ ทำให้ในปี 2564 จะยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากไฟป่าและการเผาในที่โล่ง เน้นการรับมือให้เหมาะสมกับสถานการณ์ 3 ช่วงเวลา ได้แก่ ก่อน ระหว่าง และหลังวิกฤติให้สามารถควบคุมและแก้ไขสถานการณ์วิกฤตฝุ่นละอองภาคเหนือได้อย่างเหมาะสมตามระดับความรุนแรงของปัญหา . – สำนักข่าวไทย