กรุงเทพฯ 29 ต.ค. – ปลัดเกษตรฯ สั่งกรมชลประทานเก็บกักน้ำจากอิทธิพลของพายุโมลาเบให้มากที่สุด ย้ำเป็นฝนระลอกสุดท้ายที่จะเพิ่มน้ำตอนบนของประเทศ ส่วนอุบลราชธานีเร่งระบายน้ำมูลลงสู่น้ำโขง รองรับน้ำจากนครราชสีมาที่จะไหลมาถึงอีก 20 วัน มั่นใจไม่ล้นตลิ่งฝั่ง อ.วารินชำราบ
นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สั่งการกรมชลประทานทุกพื้นที่เก็บกักน้ำจากฝนที่ตก เพราะอิทธิพลของพายุโมลาเบ หลังกรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์จะเป็นพายุลูกสุดท้ายของปีที่จะเพิ่มน้ำตอนบนของประเทศ ล่าสุดออกประกาศว่าวันนี้ (29 ต.ค.) พายุโซนร้อนโมลาเบอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันบริเวณจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงในระยะต่อไป
นายทองเปลว กล่าวว่า เป็นโอกาสดีจะทำให้ภาคเหนือมีฝนตกหนักถึงหนักมากในจังหวัดพะเยา น่าน แพร่ ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ พิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร ตาก และเพชรบูรณ์ต่อเนื่องถึงวันพรุ่งนี้ (30 ต.ค.) ซึ่งจะเพิ่มน้ำในอ่างเก็บน้ำและลำน้ำธรรมชาติ ส่งผลดีต่อลุ่มเจ้าพระยาที่ต้องอาศัยน้ำจาก 4 เขื่อนหลักภาคเหนือและภาคกลางตอนบน สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยเฉพาะตอนล่างฝนตกหนักตั้งแต่วานนี้ (28 ต.ค.) ได้รับรายงานจากรักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทานว่า การระบายน้ำน้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขงยังระบายได้ดี ระดับน้ำที่อุบลราชธานีไม่สูงขึ้น ส่วนน้ำจากนครราชสีมาจะไหลถึง จ.อุบลฯ ในอีก 20 วัน เมื่อทำแบบจำลองการไหลและระบายน้ำระดับน้ำที่ไหลผ่าน จ.อุบลฯ ยังคงต่ำกว่าตลิ่ง มั่นใจว่าจะไม่ท่วม อ.วารินชำราบแบบที่หลายฝ่ายกังวล
ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้นการเกษตรรายงานว่า ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 7 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และสุราษฎร์ธานี ซึ่งย้ำให้เร่งระบายน้ำ เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบซ้ำ ทุกหน่วยงานต้องพร้อมเข้าช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงภายใน 24 ชั่วโมง ส่วนผลกระทบด้านพืช 17 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ สระแก้ว ปราจีนบุรี ชลบุรี จันทบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา นครปฐม สตูล สุราษฎร์ธานี และตรัง เกษตรกร 103,692 ราย พื้นที่ 688,001 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 312,577 ไร่ พืชไร่ 315,547 ไร่ พืชสวนและอื่น ๆ 59,877 ไร่ สำรวจความเสียหายเกษตรกร 88 ราย พื้นที่เสียหาย 414 ไร่ คิดเป็นวงเงิน 630,000 บาท ด้านประมงได้รับผลกระทบ 8 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท ราชบุรี กาญจนบุรี สระบุรี เพชรบุรี สระแก้ว กระบี่ สตูล ด้านปศุสัตว์ได้รับผลกระทบ 5 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา นครสวรรค์ กาญจนบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีชันธ์ ทันทีที่น้ำลดให้เร่งสำรวจความเสียหาย
นายทองเปลว กล่าวต่อว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ย้ำว่าทุกหน่วยงานต้องพร้อมช่วยเหลือเฉพาะหน้า ขณะเดียวกันหน่วยงานภาคผลิตทั้งพืช ปศุสัตว์ และประมงต้องเตรียมแผนการช่วยเหลือและฟื้นฟู เตรียมพร้อมพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์สนับสนุน เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ประสบภัยให้เร็วที่สุด.-สำนักข่าวไทย