กรุงเทพฯ 27 ต.ค.-กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เตือนเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมขังผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นโมลาเบ ช่วงวันที่ 28 – 30 ตุลาคม
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ออกประกาศเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมขัง ฉบับที่ 14 หลังกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์พายุไต้ฝุ่น “โมลาเบ” พายุระดับ 5 บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง คาดจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลางในวันที่ 28 ตุลาคม จากนั้นจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ ประกอบกับลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้มีฝนตกหนัก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ ในเบื้องต้นได้ประเมินฝนจากแผนที่คาดการณ์ปริมาณฝน (One Map) พบช่วงวันที่ 28 – 30 ตุลาคม จะมีฝนเพิ่มขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง อาจส่งผลให้ระดับน้ำในแหล่งน้ำและลำน้ำเพิ่มสูงขึ้น
โดยมีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำเกินความจุและน้ำหลากเอ่อล้นตลิ่งบริเวณที่ลุ่มต่ำ คือ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 6 แห่ง อ่างเก็บน้ำจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ่างเก็บน้ำมูลบน จังหวัดนครราชสีมา อ่างเก็บน้ำขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จังหวัดระยอง
รวมทั้ง เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง คือ แม่น้ำมูล บริวณตำบลหนองยาง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา ตำบลทุ่งกุลาอำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ และตำบลนิคม อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์, ลำปะเทีย บริเวณตำบลอีสานเขต อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์, ลำชี บริเวณตำบลตระแสง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์, ห้วยทับทัน บริเวณตำบลห้วยทับทัน อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ, แม่น้ำปราจีนบุรี บริเวณตำบลกบินทร์ อำเภอกบินทร์บุรี ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี, แม่น้ำบางปะกง บริเวณตำบลบางเตย อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี, คลองชี บริเวณตำบลเขาวิเศษ อำเภอวังวิเศษ จังหวัดตรัง, แม่น้ำตาปี บริเวณตำบลท่าสะท้อน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก และในลำน้ำต่างๆให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ โดยเฉพาะแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 95 หรือเกินเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำสูงสุด เพื่อไม่ให้ส่ผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำ ใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก.-สำนักข่าวไทย