กรุงเทพฯ 21 ต.ค. – สำนักงานชลประทานที่ 6 จัดการจราจรน้ำชี-มูล หน่วงชะลอน้ำในแม่น้ำชี ช่วยให้น้ำที่ท่วมขังหลายอำเภอ จ.นครราชสีมาไหลลงแม่น้ำมูลก่อนที่ไหลลงแม่น้ำโขงสะดวกรวดเร็ว ลดผลกระทบน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมที่ลุ่มต่ำ 2 ฝั่งมูล
นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการ สำนักงานชลประทานที่ 6 กล่าวว่า ได้จัดการจราจรน้ำชี-มูล เพื่อลดผลกระทบน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมที่ลุ่มต่ำ 2 ฝั่งมูลจากสถานการณ์น้ำท่วม จ.นครราชสีมา เก็บกักน้ำในลำน้ำสาขาชี โดยใช้อ่างขนาดกลาง 69 แห่ง ลดการระบายน้ำลงท้ายน้ำ โดยระบายเข้าระบบส่งน้ำ เพื่อเข้าไปเก็บกักในระบบส่งน้ำและตามหนอง บึง ปลายคลองส่งน้ำ
ส่วนเขื่อนขนาดใหญ่ 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ ลำปาว จุฬาภรณ์ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกันเพียง 2,262 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 49% ของความจุรวม ยังมีช่องว่างรับน้ำรวมกันมากกว่า 2,300 ล้าน ลบ.ม. โดยเขื่อนอุบลรัตน์และเขื่อนลำปาวลดการระบายน้ำลงด้านท้ายน้ำ มีเพียงเขื่อนจุฬาภรณ์ที่มีน้ำประมาณ 91% ระบายน้ำลงลำน้ำเชิญวันละ 1 ล้าน ลบ.ม. เพื่อเก็บกักที่เขื่อนอุบลรัตน์
นอกจากนี้ ยังตัดยอดน้ำหลากในแม่น้ำชีและลำสาขาที่สำคัญ เช่น ลำปะทาว ลำคันฉู ลำน้ำพอง ลำปาว ลำน้ำยังเข้าไปเก็บในแก้มลิงทุกแห่งจนเต็มความจุ เพื่อหน่วงชะลอน้ำไม่ให้ไหลลงชีตอนล่างไปสมทบกับแม่น้ำมูล ส่วนลำน้ำเสียวใหญ่ ลำพลับพลา ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาน้ำมูลยกฝายยางทั้ง 26 แห่ง ประตูระบายน้ำ 1 แห่ง อ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง กักเก็บและหน่วงน้ำจนเต็มความจุ 100% ทุกแห่ง เพื่อไม่ให้มวลน้ำไหลลงแม่น้ำมูลที่หน้าเขื่อนราศีไศล จ.ศรีสะเกษ พร้อมบริหารจัดการหน่วงเก็บกักชะลอน้ำไว้ในลำน้ำชีให้ได้มากที่สุด โดยใช้เขื่อนระบายน้ำ 6 แห่ง ได้แก่ เขื่อนชนบท เขื่อนมหาสารคาม เขื่อนวังยาง เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร และเขื่อนธาตุน้อย เก็บกักน้ำไว้หน้าเขื่อน 6 แห่ง จนเต็มศักยภาพสูงสุดได้ประมาณ 170 ล้าน ลบ.ม. โดยไม่ให้มีผลกระทบด้านเหนือเขื่อน สำหรับแม่น้ำชีตอนบน จ.ชัยภูมิ หน่วงชะลอน้ำโดยฝายยาง 3 แห่ง ได้แก่ ฝายบุตามี ฝายกะฮาดน้อย และฝายแก้งสนามนาง หากอัตราการไหลของน้ำชีเป็นไปตามเกณฑ์การบริหารจัดการฝายยางจะพองฝายยางขึ้น เพื่อหน่วงและเก็บกักน้ำไว้ด้านบนให้มากที่สุด
นายศักดิ์ศิริ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 6 ทั้ง 5 จังหวัด ประกอบด้วย ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด ว่า ยังไม่มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมที่เกิดจากฝนที่ตกลงมาในช่วงนี้ แต่เกิดผลดี คือ มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเก็บกัก 2,742 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 51 ของปริมาณความจุเก็บกักรวม นอกจากนี้ ยังเน้นการเก็บกักน้ำโดยใช้อาคารชลประทานบริหารจัดการผันน้ำท่าเข้าไปเก็บกักไว้ตามแก้มลิง 150 แห่ง จากปริมาณน้ำที่มีอยู่เดิม 36 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้มี 352 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 99% จากปริมาณความจุเก็บกักรวม รวมแล้วเก็บกักได้เพิ่มขึ้นถึง 316 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 89% ทำให้ความกังวลเรื่องน้ำฤดูแล้งที่จะมาถึงมีน้อยผ่อนคลายลง.-สำนักข่าวไทย