อุบลราชธานี 12 ต.ค. – กรมชลฯ คาดการณ์น้ำมูลล้นตลิ่งจุดสูงสุด 14 ต.ค.นี้ ด้านผู้ว่าฯ อุบลฯ แจงสรุป 19 อำเภอ น้ำสูงกว่า 1 เมตร ชาวบ้านบอกอยากให้เร่งระบายน้ำ ไม่อยากให้คนมาซับน้ำตา
จากสถานการณ์น้ำท่วมใน จ.อุบลราชธานี ซึ่งขณะนี้ขยายวงกว้างในพื้นที่ 19 อำเภอ ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 46,000 คน โดย เมื่อวานนี้ (11 ต.ค.65) นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้ออกชี้แจงถึงสถานการณ์น้ำท่วมอุบลราชธานีว่า ขณะนี้ระดับน้ำแม่น้ำมูล ที่สถานีวัดระดับน้ำ M7 สะพานเสรีประชาธิปไตย ระดับตลิ่งอยู่ที่ 112.0 ม. โดยคาดว่าอีก 1-2 วัน ระดับน้ำจะคงที่ หลังจากนั้นจะลดระดับลง ซึ่งข้อมูลจากกรมชลประทาน คาดการณ์ระดับน้ำสูงสุดที่สถานี M7 จะอยู่ในวันที่ 14 ต.ค.นี้ ระดับตลิ่ง 116.79 ม. ซึ่งจะสูงกว่าระดับปัจจุบัน 20 ซม.
นอกจากนี้ นายชลธี ผู้ว่าฯ อุบลราชธานี กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ทุกอำเภอรายงานสถานการณ์ และเร่งให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ขณะที่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ มองว่าการออกแถลงข่าวครั้งแรกในรอบ 10 วันของผู้ว่าฯ อุบลราชธานี ถือว่าล่าช้าเกินไป
สถานการณ์น้ำท่วมใน จ.อุบลราชธานี ปีนี้ถือว่าหนักหนาสาหัส สร้างความเสียหายไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท โดยชาวบ้าน บอกว่า ปีนี้น้ำมากกว่าปี 62 ทำให้สภาพของจังหวัดอุบลราชธานี ขณะนี้มีน้ำท่วมล้อมรอบ ถนนหลายสายของจังหวัดถูกน้ำท่วม โดยเฉพาะถนนเชื่อมระหว่างเทศบาลเมืองวารินชำราบกับเทศบาลนครอุบลราชธานี
ประชาชนต้องมารอขึ้นเรือ และรถที่หน่วยงานและจิตอาสานำมาให้บริการเป็นแถวยาวในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน กว่าจะได้ขึ้นรถ-เรือ ต้องใช้เวลานานร่วม 2 ชั่วโมง เพราะถนนสายหลัก 3 เส้นทางถูกน้ำท่วม เหลือเพียงถนนเลี่ยงเมืองฝั่งตะวันออก ซึ่งการจราจรติดขัดอย่างหนัก ทำให้มีเอกชน 4-5 ราย นำรถลากมาให้บริการรับส่งรถข้ามฟากถนนจุดน้ำท่วมริมอ่างเก็บน้ำห้วยวังนองไปถนนเลี่ยงเมืองฝั่งตะวันออก เพื่อหนีรถติดจากเส้นทางหลัก มีการเรียกเก็บเงินจากประชาชนที่ใช้บริการรถจักรยานยนต์คันละ 20 บาท
ภาพดาวเทียม Radarsat-2 ในวันที่ 11 ต.ค. 65 ที่ GISTDA ได้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม พบน้ำท่วมขังในพื้นที่บางส่วนของลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล ประกอบด้วย จังหวัดร้อยเอ็ด 212,586 ไร่ ศรีสะเกษ 160,007 ไร่ สุรินทร์ 154,692 ไร่ อุบลราชธานี 99,105 ไร่ ยโสธร 43,179 ไร่ กาฬสินธุ์ 31,823 ไร่ บุรีรัมย์ 26,830 ไร่ มหาสารคาม 9,280 ไร่ และอำนาจเจริญ 6,825 ไร่ รวมทั้งสิ้น 744,327 ไร่
ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่นาข้าว 528,648 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 71.02 ของพื้นที่น้ำท่วมขังตามภาพที่ปรากฏ นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่เกษตรกรรมอื่นๆ ในพื้นที่ลุ่มต่ำริมสองฝั่งแม่น้ำสายหลักและสายรองของพื้นที่โดยรอบ ชุมชนที่อยู่อาศัยและเส้นทางคมนาคมบางส่วน โดยมวลน้ำเหล่านี้จะไหลไปตามลำน้ำหลักลำน้ำรอง เพื่อไปสมทบกับแม่น้ำมูลที่จังหวัดอุบลราชธานีก่อนลงสู่แม่น้ำโขงต่อไป .-สำนักข่าวไทย