กรุงเทพฯ 14 ต.ค. – ศาลปกครองเริ่มไต่สวนคดีบีทีเอสร้องกรณี รฟม.ปรับปรุงเงื่อนไขประมูลรถไฟฟ้าสีส้มตะวันตก ด้านผู้บริหารบีทีเอสและผู้ว่าฯ รฟม.เข้าร่วมรับฟังการไต่สวนด้วยตนเอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 10.00 น. ศาลปกครองเริ่มไต่สวนคดีที่กลุ่มบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ยื่นคำร้องขอให้คุ้มครองและเพิกถอนมติของคณะกรรมการตามมาตรา 36 ที่ได้มีการปรับปรุงและขยายเวลาวิธีการประเมินและยื่นซองประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี มูลค่ากว่า 140,000 ล้านบาท
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พร้อมด้วยฝ่ายกฎหมาย รวมทั้งผู้บริหารบีทีเอส นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เข้าร่วมรับฟังการไต่สวนด้วยตนเอง โดยทั้ง 2 ฝ่ายต่างมั่นใจในหลักฐานและอำนาจตามกฎหมายที่มี อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตรงกันว่าวันนี้ศาลจะไต่สวนโดยอาจจะยังไม่มีคำสั่งอย่างใดออกมา ซึ่งจะต้องติดตามคำสั่งศาลหลังจากศาลพิจารณาเสร็จอีกครั้ง
สำหรับปัญหาการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วง (บางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่าโครงการกว่า 140,000 ล้านบาท โดยต้องจับตาต่อไปว่าผลของการปรับวิธีการประเมินการยื่นซองประกวดราคาของ รฟม.และคณะกรรมการตามมาตรา 36 ที่ดำเนิการไปแล้ว รวมถึงการขยายระยะเวลาให้เอกชนยื่นซองไป 45 วัน ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 9 พฤศจิกายนปีนี้ ทำให้เกิดปัญหาขัดแย้ง กับเอกชนยักษ์ใหญ่ที่เตรียมเข้าร่วมประมูลโครงการ โดยต้องจับตาว่าความขัดแย้งครั้งนี้จะส่งผลให้ต้องมีการล้มการประกวดราคารอบนี้ ซึ่งแน่นอนจะทำให้การดำเนินโครงการต้องล่าช้าออกไปอีกหรือไม่
ปัญหาเกิดขึ้นหลังจากวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ขอให้ทบทวนวิธีการประเมินข้อเสนอการร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) อ้างว่าอันนี้ไม่ควรให้พิจารณาให้ผู้ชนะประมูลเป็นผู้ที่เสนอผลประโยชน์ทางการเงินสูงสุดเท่านั้น แต่ควรพิจารณาผู้ที่ให้ประโยชน์สูงสุดแก่รัฐในภาพรวม ทำให้โครงการประสบความสำเร็จได้ โดยพิจารณาถึงปัจจัยและผลประโยชน์ด้านอื่น เช่น ข้อเสนอด้านเทคนิคการดำเนินงาน ความน่าเชื่อถือ ศักยภาพและความสามารถของผู้ยื่น จนต่อมา รฟม.ได้ออกประกาศปรับหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจาก รฟม.ปิดการขายซองเอกสารประมูลไปแล้วเกือบ 1 เดือน หรือตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2563
การปรับหลักเกณฑ์ครั้งนี้ส่งผลให้กลุ่มบีทีเอสยื่นคำร้องต่อศาลปกครองวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา ขอคุ้มครองชั่วคราว โดยขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งเพิกถอนมติคณะกรรมการมาตรา 36 ที่ปรับปรุงให้มีการขยายเวลา และเพิกถอนเอกสารการคัดเลือกเอกชน (RFP) เกี่ยวกับการประเมิน และร้องให้ศาลสั่งระงับการคัดเลือกเอกชนไว้ก่อนจนกว่าศาลจะพิจารณาคดีเสร็จ โดยศาลปกครองนัดไต่สวนคำร้องของบีทีเอสและคำคัดค้านของ รฟม.วันนี้
ก่อนหน้านี้ผู้ว่าการ รฟม.ยืนยันว่า รฟม.และคณะกรรมการมาตรา 36 ปรับวิธีการประเมินการยื่นซอง โดยมีอำนาจตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน พ.ศ.2562 ไม่มีการดำเนินการส่อไปในทางทุจริต เพราะยังไม่มีการรับซองข้อเสนอ นอกจากนี้ ยังมีการขยายระยะเวลายื่นซองออกไปอีก 45 วัน ทำให้เอกชนทุกรายมีเวลาปรับปรุงข้อเสนอไม่น้อยกว่า 70 วัน และจะมีเวลาปรับปรุงข้อเสนอให้เป็นไปตามการประเมินคุณสมบัติ โดยเท่าเทียมกัน และมีข้อต่อสู้ที่สำคัญ คือ ความเป็นผู้เสียหายของผู้ฟ้อง (บีทีเอส) โดยยืนยันขณะนี้ยังอยู่ในช่วงให้เอกชนเตรียมข้อเสนอราคายังไม่ได้ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบแก่เอกชนรายใด จึงยังไม่มีผู้เสียหายเกิดขึ้น
ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการปรับปรุงหลักเกณฑ์การประเมินฯ หลังจากการปิดขายซองไปแล้วนั้น ผู้ว่าฯ รฟม.ระบุว่าในข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ และความเห็นของ สคร.ระบุให้ รฟม.สามารถดำเนินการรับฟังข้อเสนอของเอกชน เพื่อนำมาปรับปรุงหลักเกณฑ์ เพื่อดำเนินการ จึงไม่ได้มีการเอื้อประโยชน์ หรือฟังแค่ความเห็นของเอกชนเพียงรายหนึ่งรายใดเท่านั้น
ส่วนข้อกังวลว่าการปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยเฉพาะประเด็นเรื่องประสบการณ์การขุดอุโมงค์จะส่งผลให้บีทีเอสเสียเปรียบเอกชนรายอื่นนั้น รฟม.ระบุว่าการเปิดให้เอกชนรายใดเข้าเสนอคุณสมบัตินั้น ก็จะมีลักษณะการเปิดกว้างโดยระบุเป็นเพียงประสบการณ์ในการขุดอุโมงค์ที่มีขนาดกว้างไม่น้อยกว่า 5 เมตร รวมทั้งเอกชนที่ยื่นข้อเสนอก็สามารถนำคุณสมบัติของผู้รับเหมาช่วง หรือ subcontract มาประกอบการยื่นข้อเสนอในการพิจารณาคุณสมบัติได้
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าฯ รฟม. ยืนยันว่าหากศาลมีคำสั่งคุ้มครอง หรือยกคำร้องคุ้มครอง ทั้ง 2 ฝ่ายมีสิทธิ์ที่จะอุทธรณ์ได้ตามขั้นตอน และยืนยันว่าพร้อมปฏิบัติตามคำสั่งของศาล มั่นใจกรณีดังกล่าวจะไม่ยืดเยื้อแน่นอน
นายสุรพงษ์ ยืนยันอีกครั้งว่าบีทีเอสพร้อมเข้าสู่กระบวนการไต่สวนของศาลปกครองวันนี้ ส่วนศาลจะมีคำสั่งเมื่อใด ต้องติดตามการพิจารณาของศาลอีกครั้ง โดยในส่วนของบีทีเอสยืนยันว่าการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวอาจทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบแก่บีทีเอส ส่วนข้อต่อสู้ที่ รฟม.ระบุว่ายังไม่มีเอกชนรายใดยื่นซอง บีทีเอสจึงไม่ใช่ผู้เสียหายนั้น คงต้องไปพิสูจน์กันในศาล
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่าง กรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)