กรุงเทพฯ 9 ส.ค. – เปิดความจริงอีกมุมจากประเด็น #saveทับลาน กลางปี 2566 ศาลปกครองกลางยกคำร้องที่ “ชัยวัฒน์” ร้อง คทช. – ครม. กรณีเห็นชอบการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตาม One Map โดยใช้เส้นสำรวจปี 2543 จนนำไปสู่การที่ ครม. เห็นชอบและให้กรมอุทยานฯ ปรับปรุงแนวเขต ตัดพื้นที่ออก 260,00 ไร่ ศาลชี้ คทช. ทำตามนโยบายรัฐบาลในการลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน โดยจัดสรรที่ให้แก่เกษตรกรและผู้ที่ยากไร้
นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เคยเป็นโจทก์ยื่นร้องต่อศาลปกครองกลาง โดยมีจำเลยประกอบด้วย คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) จำเลยที่ 1 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) จำเลยที่ 2 คณะอนุกรรมการนโยบาย แนวทาง และมาตรการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน จำเลยที่ 3 และคณะรัฐมนตรี จำเลยที่ 4 โดยร้องหลังจากที่ ครม. มีมติเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 เห็นชอบการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4,000 (One Map) โดยใช้เส้นสำรวจปี พ.ศ. 2543 โดยจะมีพื้นที่ที่กันออกจากพื้นที่ประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับลานในปี พ.ศ. 2524 แล้วให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) นำไป จัดสรรให้เกษตรกรและผู้ยากไร้ตามกฎหมายปฏิรูปที่ดิน
ตามคำร้องระบุว่า การดำเนินงานของผู้ถูกร้องเป็นการส่งเสริมให้คนในพื้นที่นำที่ดินไปขายให้แก่นายทุนเพื่อก่อสร้างโรงแรม รีสอร์ท และบ้านพักตากอากาศเพิ่มขึ้นและเปิดโอกาสให้นายทุนซื้อที่ดินดังกล่าวมากขึ้น รวมทั้งเกิดความเสียหายแก่ทางราชการ
ผู้ฟ้องคดีจึงต้องนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งทำหน้าที่รับผิดชอบการดำเนินงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในการประชุมครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 ที่ให้ยึดเส้นแนวเขตของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) โดยใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขตปี พ.ศ. 2543 ในการดำเนินการปรับปรุงแผนที่ One Map เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐทับซ้อนกันในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ
ทั้งยังขอให้เพิกถอนมติผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ในการประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ที่เห็นชอบแนวทางการใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขตปี พ.ศ. 2543 ในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4,000 (One Map) กรณีพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดปราจีนบุรี และเห็นชอบการดำเนินงานในพื้นที่ที่กันออกจากเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน
ผู้ร้องขอให้เพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ในการประชุมเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ซึ่งมีมติให้ยึดเส้นแนวเขตของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขตปี พ.ศ. 2543 ในการดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ แบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4,000 (One Map) กรณีพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดปราจีนบุรี
พร้อมกันนี้ ขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขตปี พ.ศ.2543 ในการดำเนินการปรับปรุงแผนที่ One Map เพื่อใช้แก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐทับซ้อนกันในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานไว้ก่อนจนกว่าศาลปกครองจะมีคำพิพากษา รวมทั้งมีคำสั่งคุ้มครองสถานภาพอุทยานแห่งชาติทับลานและไม่ให้มีการเพิกถอนแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าวังน้ำเขียวและป่าครบุรี ในท้องที่ตำบลสะแกราช ตำบลวังน้ำเขียว อำเภอปีกธงชัย ตำบลครบุรี ตำบลจระเข้หิน ตำบลโคกกระชาย อำเภอครบุรี และตำบลสระตะเคียน ตำบลโนนสมบูรณ์ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ และป่าเขาสะโตน ในท้องที่ตำบลบุพราหมณ์ ตำบลทุ่งโพธิ์อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2524
สคทช. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ชี้แจงว่า ตามมาตรา 10 (7) แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ได้บัญญัติให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีหน้าที่และอำนาจในการเสนอแนะต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐและมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการกำหนดแนวเขตที่ดินของรัฐ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางแก้ไขปัญหาการดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4,000 (One Map) พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 10 (7) แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติมอบหมายให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เสนอเรื่องต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ต่อไป ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงได้นำเสนอเรื่อง ผลการดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน
พร้อมยืนยันว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐและมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการกำหนดแนวเขตที่ดินของรัฐ ซึ่งเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล เกี่ยวกับการให้จัดทำแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐให้ชัดเจน และเร่งแก้ไขปัญหาที่ดินทับซ้อน และแนวเขตพื้นที่ป่าที่ไม่ชัดเจน เพื่อลดข้อขัดแย้งระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐประกอบกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาส และความเสมอภาคทางสังคม และเป็นมติคณะรัฐมนตรีอันมีลักษณะเป็นการกำหนดนโยบายในทางการบริหาร เป็นการพิจารณาตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาล ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดทางการเมืองในฝ่ายบริหาร เพื่อให้ส่วนราชการหน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง รับไปดำเนินการในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตามหน้าที่และอำนาจให้ถูกต้อง เป็นไปตามกฎหมายระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีต่อไป
ภายหลังจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีมติดังกล่าว กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดปราจีนบุรี ต้องร่วมกันตรวจสอบข้อมูลพื้นที่ของจุดที่ไม่ชัดเจนให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน โดยใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขต ปี พ.ศ. 2543
ในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4,000 (One Map) พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดปราจีนบุรี และเร่งรัดดำเนินการสำรวจเพื่อจัดทำแนวกันชน (Buffer Zone) ที่ชัดเจน เพื่อรักษาความสมบูรณ์ของพื้นที่มรดกโลกและสภาพพื้นที่ป่าไม้ รวมทั้งให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ที่กันออกจากเขตอุทยานแห่งชาติทับลานให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมดำเนินการจัดที่ดินให้ประชาชนอยู่อาศัยทำกินตามแนวทางของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 หรือตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้วแต่กรณี
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้ว ระบุว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่า การดำเนินการดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่เป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล เรื่อง การปรับปรุงระบบที่ดินทำกินและลดความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองที่ดิน โดยจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้แก่ราษฎรที่ยากไร้และเกษตรกร ตามหลักของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 การกระจายสิทธิการถือครองให้แก่ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ได้รุกล้ำและมีมาตรการป้องกันการเปลี่ยนมือไปอยู่ในครอบครองของผู้ที่มิใช่เกษตรกรและผู้ยากจน จัดทำระบบฐานข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการที่ดิน จัดทำหลักฐานการถือครองที่ดินของรัฐทุกประเภท จัดทำแผนที่แสดงแนวเขตที่ดินของรัฐให้ชัดเจน และเร่งแก้ไขปัญหาเขตที่ดินทับซ้อน และแนวเขตพื้นที่ป่าที่ไม่ชัดเจน เพื่อลดข้อขัดแย้งระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ หากนโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่ไม่ถูกต้องหรือมีข้อบกพร่องในการดำเนินการตามนโยบาย รัฐบาลย่อมจะต้องรับผิดชอบทางการเมืองต่อความไม่ถูกต้องหรือข้อบกพร่องดังกล่าว
มติดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จึงไม่มีสถานะเป็นกฎ ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2541 ดังที่ผู้ฟ้องคดีอ้างในคำฟ้องและมิใช่เป็นการใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองอื่นใดที่จะอยู่ในอำนาจตรวจสอบของศาลปกครอง
การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างในคำฟ้องว่า การมีมติดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 รวมทั้งการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เสนอเรื่องดังกล่าวให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 พิจารณามีมติข้างต้น เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นเพียงการกล่าวหาเกี่ยวกับการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลเท่านั้น ดังนั้น คดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมายที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจึงไม่อาจรับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาได้จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความและเมื่อศาลได้มีคำสั่งเช่นนี้แล้ว จึงไม่จำต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาและคำขออื่นของผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด
512 – สำนักข่าวไทย