กทม.17 ก.ย.-เสวนาถอดบทเรียนการชุมนุมทางการเมืองแต่ละยุคสมัย ร่วมหาทางออกแม้เห็นต่างแต่อยู่ร่วมกันได้ แนะชุมนุม 19 ก.ย. รัฐอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัย
การเสวนา “ถอดบทเรียนจากประสบการณ์การชุมนุมทางการเมืองและข้อเสนอต่อสังคม” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์จริง สร้างกระบวนการ มาตรฐานใหม่หาทางออกด้วยเหตุผลลดความขัดแย้ง มีนายสมชาย หอมละออ คนดือนตุลาและอดีตผู้ต้องหาคดี 6 ตุลาคม 2519 , นายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข อดีตกรรมการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และอดีตแกนนำนักศึกษาพฤษภา’35 , นายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ,นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีตแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.), นางสาวณัฏฐา มหัทธนา อดีตแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ร่วมเสวนาในประเด็นบริบทสถานการณ์การชุมนุมแต่ละยุคสมัย, ความรุนแรง เงื่อนไขการชุมนุม, การเผชิญหน้าในการชุมนุม, การถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ชุมนุมพร้อมข้อเสนอแนะ
นายสมชาย แสดงจุดยืนคัดค้านคำสั่งห้ามชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และไม่เห็นด้วยกับคำสั่งผู้บริหารมหาวิทยาลัย ชี้ นักศึกษามีสิทธิ เสรีภาพในการชุมนุมแสดงความคิดเห็น แต่การจำกัดสิทธิเสรีภาพจะยิ่งยุยงให้แสดงความก้าวร้าวยิ่งขึ้น ชี้เหตุการณ์ 14 ตุลา มีการต่อต้านเผด็จการณ์ทหาร ซึ่งคล้ายกับนิสิตนักศึกษาในปัจจุบัน มองว่าเป็นวิกฤตของศรัทธา ซึ่งการกระทำของรัฐจะกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง
นายชูวัส ระบุ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 35 ทำให้เกิดการปฏิรูปสื่อ รัฐธรรมนูญ 40 , การเสนอนายกรัฐมนตรีคนนอก ทำให้เกิดระบอบคนดีซึ่งต้องเป็นคนมีอำนาจ มองว่าการชุมนุมของกลุ่มนิสิตนักศึกษาเขารู้ดีว่าจะจัดการ มียุทธวิธีอย่างไร และต้องการลดความรุนแรง ซึ่งรัฐควรต้องดูแลความปลอดภัยและส่งเสริมให้เกิดการชุมนุม
นายพิภพ กล่าวว่า กลุ่ม พธม.ชุมนุมล้อมทำเนียบ 190 วันไม่เกิดความรุนแรง ซึ่งคำพิพากษาศาลระบุความรุนแรงไม่ได้เกิดจากผู้ชุมนุม แต่ความรุนแรงเกิดจากอำนาจรัฐ ตำรวจ ทหารใช้อาวุธล้อมปราบม็อบ ชี้ภาครัฐรู้วิถีกระสุน วิถี M79 จึงควรมีการป้องกัน หาก 19 ก.ย.เกิดความรุนแรงภาครัฐจะปัดความรับผิดชอบไม่ได้ พร้อมมองการตั้งสสร.เขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นทางออกในยุคนี้
นายจตุพร ระบุ การสร้างสถานการณ์ในแต่ละยุคสมัยไม่ต่างกัน โรคแทรกซ้อนทางการชุมนุมถึงจะออกแบบดีอย่างไรก็สู้เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ ชี้ปลุกการชุมนุมง่ายกว่าเอาม็อบลง ชุมนุมนปช.ปี 53 เป็นปรากฏแรกใช้สไนเปอร์กับผู้ชุมนุมมีผู้เสียชีวิต ย้ำรัฐไม่ควรใช้ความรุนแรง ซึ่งการสร้างสถานการณ์เป็นการสร้างความชอบธรรมในการปราบปราม เห็นด้วยว่าความรุนแรงเกิดจากรัฐ ย้ำการชุมนุมวันที่ 19 กย. รัฐต้องอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอภัย
นายสาทิตย์ ชี้ทุกการชุมนุมมีเงื่อนไข ต้องยึดถือตามเงื่อนไข ยึดชุมนุมภายใต้รัฐธรรมนูญกำหนด เชื่อว่านอกจากการชุมนุมวันที่ 19 กันยายน จะมีการต่อสู้มีอีกหลายๆครั้ง ชี้แกนนำผู้ชุมนุมมีส่วนกำหนดทิศทางการชุมนุม รวมถึงการสร้างข่าวในกลุ่มผู้ชุมนุมจะสร้างความรุนแรงได้ กังวลวันที่ 19 ก.ย. มีหลากหลายกลุ่มผู้ชุมนุม คนละความคิดเห็น หากมีการใช้อารมณ์อาจเกิดความขัดแย้งได้ อยากให้รัฐเปิดใจรับฟังข้อเรียกร้องของคนหนุ่มสาวยุคนี้
นางสาวณัฏฐา ระบุการชุมนุมในยุค คสช.อยู่ในบริบทมีทหารคุมต่างจากรัฐบาลพลเรือน ชี้พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ทำให้การชุมนุมยากลำบากและมีการดำเนินคดีกับแกนนำผู้ชุมนุม หรือการใช้กฎหมายปิดปาก เห็นควรแก้ไข พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ยกระดับมาตรฐานสื่อในการนำเสนอ พร้อมมองว่าบทบาทสภาก็สำคัญ สว.มีส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดรัฐธรรมนูญได้
ขณะที่บรรยากาศการเสวนามีประชาชน นิสิตนักศึกษา เข้าร่วมฟัง และมีการถ่ายทอดสดทางโซเชียล พร้อมติด # ความรุนแรงอย่าหาทำโดยมีผู้สังเกตการณ์ร่วมซักถาม.-สำนักข่าวไทย