จุฬาฯ 12 ก.ย.-“ทนายอานนท์” ระบุข้อเสนอยุบสภา รัฐหยุดคุกคามประชาชนกับ10 ข้อเรียกร้องเป็นจริงได้ด้วยกลไกของรัฐสภา ชี้ถ้าส.ว.ไม่สละอำนาจ อาจทำบ้านเมืองแตกหัก “ทัตเทพ” เชื่อรัฐธรรมนูญใหม่เกิดขึ้นได้ ถ้าไม่ล็อคสเปค
คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฏร จัดเสวนา “ความยุติธรรมภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน” ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน แกนนำกลุ่มเยาวชนปลดแอก กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือจัดการคนที่เห็นต่างทางการเมืองทำให้คนกลัวไม่กล้าพูดถึงเหตุการณ์ในปี 2553 รวมถึงละเมิดสิทธิมนุษยชน การประกาศกฎอัยการศึก การออกคำสั่งมาตรา 44 และการแฮกข้อมูลทางโทรศัพท์
“ชีวิตผมและคนรอบข้างหลังจากปี 2553 เป็นชีวิตที่อยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถูกบุคคลติดตาม ทุกวันนี้เวลานอนต้องนอนหลายสถานที่ มีคนคอยมาติดตามดูตลอด ทั้งที่ศาลและที่ทำงาน การดำเนินชีวิตแบบไม่ปกตินี้จะอยู่ไปอีกสักพักใหญ่ ซึ่งความไม่ปกตินี้มีมาตลอดไม่ใช่เฉพาะช่วงที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องตระหนักอยู่เสมอว่าเราอยู่ในสภาวะการณ์ที่ไม่ปกติในทุกอย่าง อาจโดนทำร้ายหรือโดนจับได้” นายอานนท์ กล่าว
ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายอานนท์ กล่าวว่า ต้องอาศัยคนข้างนอกกดดันให้การแก้ไขเกิดขึ้นจริง ขณะที่การต่อสู้ในทางกฎหมายต้องใช้การต่อสู้แบบไม่ปกติ เช่น กรณีของตนเองที่ศาลให้ประกันตัวแต่ก็เลือกที่จะไม่ประกัน รวมถึงการต่อสู้กับอำนาจต่าง ๆ โดยคิดว่าสู้กับคนบ้า เราก็ต้องบ้า
“การชุมนุมที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 19 กันยายน นี้และหลังจากวันดังกล่าว จะมีเรื่องเซอร์ไพรส์ และมองว่าทางออกเดียวที่จะทำให้สถานการณ์ไม่ปกติกลับไปสู่ความปกติคือผลักดันทุกอย่างเข้าสู่รัฐสภา เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสีย ซึ่งข้อเสนอต่าง ๆ ทั้งจากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และกลุ่มเยาวชนปลดแอกสามารถเป็นจริงได้ด้วยกลไกของรัฐสภา ได้แก่ ข้อเสนอให้ยุบสภา ยุติการคุกคามประชาชน การแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุมทั้ง 10 ข้อด้วย” นายอานนท์ กล่าว
นายอานนท์ กล่าวว่า สำหรับสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) หากมีท่าทีไม่ยอมแก้รัฐธรรมนูญ มองว่าบ้านเมืองแตกหักแน่ ถ้ามีความเป็นมนุษย์ต้องยอมถอยอะไรบางอย่าง เพื่อให้บ้านเมืองไปต่อได้ คือวิธีการแก้ปัญหา
ด้านนายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี ผู้ถูกดำเนินคดีตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากการชุมนุมทางการเมือง แกนนำกลุ่มเยาวชนปลดแอก กล่าวว่า ข้อเสนอในการแก้ไขภาวะที่ไม่ปกติคือ 1.รัฐต้องหยุดคุกคามประชาชนที่แสดงออกตามสิทธิเสรีภาพ หยุดการอุ้มหาย การไปเยี่ยมบ้านผู้ที่ตัวเองติดตาม ซึ่งอยู่ที่วิสัยทัศน์ของผู้บริหารประเทศและผู้นำประเทศว่ามีความจริงใจแค่ไหนในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน 2.ต้องปฏิรูปตำรวจ เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพได้อย่างรวดเร็ว และ 3.ต้องแก้ไข ยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการแสดงออกตามสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 มาตรา 116 และแก้ไขความกำกวมที่อยู่ในกฎหมายความมั่นคงของรัฐ ซึ่งมองว่า 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน และ 1 ความฝัน รวมถึงข้อเรียกร้อง 10 ข้อ มีความเป็นไปได้ หากมีการแก้ไขกฎหมายต่างๆ
“ต้องออกแบบสังคมร่วมกันด้วยการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ผ่านสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) เพื่อให้อำนาจเป็นของประชาชน ส.ส.ร. ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการจะแก้ไขหมวดใดหรือร่างมาตราใดขึ้นใหม่ขึ้นอยู่กับประชาชน รัฐสภามีหน้าที่แค่อำนวยความสะดวกให้ประชาชน ซึ่งมั่นใจว่ารัฐธรรมนูญใหม่เกิดขึ้นได้ขอเพียงอย่าล็อกสเปคการแก้ไข ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่จะทำให้ข้อเสนอทุกอย่างเกิดขึ้นได้และมีความเปลี่ยนแปลงคือพลังนอกสภา” นายทัตเทพ กล่าว
นายทัตเทพ กล่าวว่า หลังการชุมนุมในเดือนกรกฎาคม 2563 เป็นต้นมา การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความคืบหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ จึงขอชวนประชาชนไปให้กำลังใจ ส.ส. และส.ว. ที่สภาในวันที่ 23-24 กันยายนนี้ เพื่อให้มีกำลังใจยกมือโหวตรับหลักการญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ.-สำนักข่าวไทย