กรุงเทพฯ 11 ก.ย. – ก.อุตฯ ดันตลาดสิ่งทอ-แฟชั่นไทยในชายแดนใต้สู่ตลาดต่างประเทศ นำการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ ชูเอกลักษณ์ประจำถิ่น สร้างมูลค่าเพิ่ม
นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงอุตสาหกรรมขอให้สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอจัดทำโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและแฟชั่นด้วยการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยวางพื้นที่เป้าหมายของโครงการในพื้นที่จังหวัด ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 257 คนนั้น ผลการดำเนินงานล่าสุดเป็นที่น่าพอใจ เพราะสามารถผลักดันสินค้าสิ่งทอ-แฟชั่น จังหวัดชายแดนได้บุกตลาดต่างประเทศได้แล้ว ล่าสุดนำไปจัดแสดงและจำหน่ายห้างสรรพสินค้า Avenue K กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย มียอดจำหน่ายของร้านค้าและรายได้กลุ่มผู้ประกอบการสินค้าผ้าบาติก ผ้าปาเต๊ะ และสินค้าแปรรูปผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 โดยปี 2562 ผู้ประกอบการหลังจากเข้าโครงการมีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไม่น้อยกว่า 16,210,000 บาท และปี 2563 มียอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นจากเดิม 19,908,000 บาท
นางวรวรรณ กล่าวว่า ผลสำเร็จที่ได้จากโครงการฯ นอกจากจะเกิดการรวมกลุ่มผู้ประกอบการสิ่งทอสามารถพัฒนาและต่อยอดสร้างเป็นอาชีพที่มั่นคงได้ยังเพิ่มโอกาสจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ถือว่าเป็นโครงการที่ยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการในจังหวัดชายแดนใต้กว่า 500 ราย จากข้อมูลพบว่าร้อยละ 63 เป็นผู้ประกอบการที่ผลิตเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายมุสลิม ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 37 เป็นผู้ประกอบการที่ผลิตผ้าทอพื้นเมือง ผ้าบาติก ผ้ามัดย้อม เคหะสิ่งทอ และสินค้าแปรรูปจากสิ่งทอ ซึ่งผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และการตลาดเพื่อนำความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบ ผนวกกับคุณสมบัติพิเศษของวัตถุดิบที่เป็นเป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น การเลือกใช้วัสดุในการออกแบบให้เหมะสมกับการใช้งาน ตอบสนองประโยชน์การใช้งาน
และมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว อาทิ การสร้างสรรค์จากวัฒนธรรมหรือผสมผสานรูปแบบที่มีความร่วมสมัยให้สามารถตอบสนองรูปแบบการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ภายใต้แนวคิด Cross Cultural : Turn Thai Wisdom to International จำนวน 59 ผลิตภัณฑ์ 12 คอลเลคชั่น ซึ่งแต่ละคอลเลคชั่นจะมีคอนเซ็ปต์การออกแบบธีมสีที่ชัดเจนและการออกแบบผลิตภัณฑ์จะเน้นความคิดเชิงสร้างสรรค์และเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม นำต้นทุนท้องถิ่น ผสมผสานกับเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด.-สำนักข่าวไทย