กรุงเทพฯ 8 ก.ย. – สภาผู้ส่งออกคงคาดการณ์ส่งออกปีนี้ ติดลบ 10% หวังไตรมาสสุดท้ายส่งออกดีขึ้นรับปีใหม่ พร้อมขอให้ภาครัฐเร่งเดินหน้าเร่งแก้ปัญหาด้านโลจีสติกส์
นางสาวกัณญภัต ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออก) แถลงข่าวสถานการณ์การส่งออก เดือน ก.ค.63 ว่า สภาผู้ส่งออกฯ คงคาดการณ์ส่งออกปีนี้จะติดลบ 10 ซึ่งเป็นการคาดการณ์ ล่าสุด ณ เดือน ก.ย.นี้ คาดใกล้ปีใหม่การส่งออกจะดีขึ้น ทั้งนี้อยู่บนสมมุติฐานค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.5 บวกลบ 0.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญคือ การส่งออกสินค้ากลุ่มอาหาร เช่น อาหารกระป๋อง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับ WORK FROM HOME ยังคงขยายตัวได้ดี จากอานิสงค์ของการระบาดโควิด-19 ในบางพื้นที่
สำหรับยอดการส่งออกในเดือน ก.ค.63 ติดลบน้อยกว่าคาดการณ์ โดยติดลบ 11.61% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา ด้วยมูลค่ารวม 579,654 ล้านบาท ทำให้ผลรวมการส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ คือช่วง ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ค.63 ส่งออกติดลบไม่ถึง 2 หลัก โดยติดลบ 8.77 ด้วยมูลค่าส่งออกรวม 4.1 ล้านล้านบาท
ส่วนการนำเข้า เดือน ก.ค.63 มียอดติดลบสูง 26.59% ด้วยยอดนำเข้ารวม 483,309 ล้านบาท ส่วนภาพรวมการนำเข้าในช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ ติดลบรวม 15.81% มูลค่านำเข้ารวม 3.7 ล้านล้านบาท ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่สอดคล้องกับตัวเลขส่งออก ทำให้สภาผู้ส่งออกกังวล ว่าจะส่งผลกระทบต่อการผลิตเพื่อส่งออก ในเดือนต่อๆ ไป ส่งผลให้ประเทศไทยเกินดุลการค้า 389,496 ล้านบาท โดยเป็นยอดส่งออกเมื่อหักทองคำและน้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย
ทั้งนี้ต้องการให้ภาครัฐเอาจริงช่วยดูแลแก้ปัญหาต้นทุนด้านโลจิสติกส์ให้กับผู้ผลิตและผู้ส่งออก โดยเฉพาะค่าโลจิสติกส์ระหว่างประเทศพุ่งขึ้นถึง 30% ส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ในประเทศเพิ่มขึ้น 25.7% รวมแล้วต้นทุนโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการล่าสุดอยู่ในระดับ 13.6% ซึ่งเป็นข้อมูลจากสภาพัฒน์ เพื่อแก้ไขปัญหาต้นทุนด้านโลจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้น ภาครัฐต้องช่วยผลักดันแผนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาโลจิสติกส์ที่มีอยู่แล้วให้สามารถเดินหน้าตามแผนโดยเร็ว ซึ่ง สภาพัฒน์มีแผนลดต้นทุนโลจีสติกส์เหลือ 12% ภายในปี 2564 .-สำนักข่าวไทย