กรุงเทพฯ 6 ก.ย.- “คำนูณ”หนุน ตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อความสงบของบ้านเมือง-ฟังเสียงประชาชน พร้อมเตรียมโหวตร่างแก้รธน. ชี้ รัฐบาลสอบตกปฏิรูปตำรวจ
นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ว่า บทถาวรของรัฐธรรมนูญ 2560 มีของดีอยู่ที่มาตรา 144 ที่ไม่ให้นักการเมืองเข้ามามีส่วนใช้งบประมาณแผ่นดิน แต่ส่วนใหญ่ที่คัดค้านคือ บทเฉพาะกาล ที่ถูกตั้งคำถามหนักในประเด็นความชอบธรรมทางการเมือง โดยเฉพาะบทเฉพาะกาลมาตรา 269 ประกอบมาตรา 272 ที่กำหนดให้ คสช.คัดเลือก 250 ส.ว. แล้ว ส.ว.ร่วมเลือกอดีตหัวหน้าคสช. เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยตามปกติ แต่ได้รับการชี้แจงว่า เป็นระบอบการเมืองเฉพาะกิจและเฉพาะกาลในช่วงเปลี่ยนผ่าน ของความขัดแย้งรุนแรง เพื่อให้บรรลุ 2 เป้าหมาย คือความสงบสุขในบ้านเมือง อย่างน้อยก็ชั่วคราว และเพื่อให้การปฏิรูปประเทศตามแผนงานเดินหน้าได้ดี ในช่วง 5 ปีแรก เพราะเชื่อว่าหากทำได้ ความขัดแย้งที่มีอยู่จะได้รับการแก้ไข และจะมีความสงบสุขอย่างยั่งยืน แต่ประเด็นเรื่องความสงบสุขของบ้านเมืองนั้น ไม่มีอยู่อย่างแน่นอน ขณะที่การปฏิรูปประเทศคืบหน้าช้ามาก และจะไม่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญเขียนกำหนดไว้ให้แล้วเสร็จในปี 2565 โดยเฉพาะเรื่องใหญ่ เช่น การปฏิรูปตำรวจ ซึ่งรัฐบาลชุดนี้สอบไม่ผ่าน นอกจากทำไม่เสร็จภายใน 1 ปีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 260 วรรคสองแล้ว ยังฝ่าฝืนบทเร่งรัดกึ่งลงโทษในมาตรา 260 วรรคสาม ด้วยการตราประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องหลักเกณฑ์การแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจตามหลักอาวุโส ที่จนต้องใช้อำนาจ คสช.ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.มาแก้ไข
ดังนั้น จึงเห็นว่า ขณะนี้ไม่คุ้มค่าที่จะคงมาตรการพิเศษเฉพาะกิจและเฉพาะกาลช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะที่อ้างว่าเพื่อให้การปฏิรูปประเทศเดินหน้า ไว้อีกต่อไป นายคำนูณ กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวมองว่าการตัดมาตรา 272 อำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีของ 250 ส.ว.ออกไปจากรัฐธรรมนูญ และแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยต้องรวมประเด็นที่เป็นปัญหาเร่งด่วนที่สุด หรือที่ถูกมองว่าไร้ความชอบธรรมที่สุด คือมาตรา 272 ไว้ด้วย จะดีกว่าการแก้ไขให้เกิดการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยส.ส.ร. ที่เสี่ยงต่อการที่จะทำให้ของดีหายไป และ ยังต้องใช้เวลาอีก 15 – 19 เดือนกว่าจะสำเร็จทุกขั้นตอน แต่เมื่อทบทวนดูแล้ว ในชั้นวาระที่ 1 จะให้ตนซึ่งเป็นหนึ่งใน ส.ว. 250 คนตามบทเฉพาะกาล มาคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมแบบยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ที่เสนอจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 2 ฝ่ายนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะอาจจะกระทบต่อความไม่สงบของบ้านเมือง และที่สำคัญคือ ต้องยอมรับผลของการตัดสินใจโดยตรงจากประชาชน ดังนั้น ในวันที่ 24 กันยายน 2563 ตนจึงตัดสินใจว่า จะเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะแก้ไขรายประเด็นรายมาตรา โดยเฉพาะมาตรา 272 หรือการแก้ไขเพิ่มเติมหมวดใหม่ให้มีส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่.สำนักข่าวไทย