กฟผ. จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1

นนทบุรี 22 ส.ค. – ชาวเมืองนนท์และกรุงเทพฯ ช่วยสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้า ร่วมรับฟังความคิดเห็นโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1 อย่างสนใจ ด้าน กฟผ. และบริษัท ซีคอท จำกัด พร้อมนำข้อเสนอแนะ จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับสมบูรณ์ โดยคำนึงประโยชน์ของชุมชนเพื่อประเทศชาติเป็นสำคัญ


การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดย บริษัท ซีคอท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาได้จัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ต่อการจัดทำร่างรายงานและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในรายงาน EIA (Environmental Impact Assessment) โครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1 ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคาร 2 ชั้น 5 สำนักงานเทศบาลนครนนทบุรี อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี โดยมีนางสาวทิพย์อาภา ยลธรรม์ธรรม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนนทบุรี เป็นประธานเปิดงาน นางศรีวรรณ บูรณโชคไพศาล ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า กฟผ. กล่าวรายงาน พร้อมด้วยนายสมรักษ์ เพ็ชรเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมและก่อสร้างโรงไฟฟ้า กฟผ. และประชาชนในพื้นที่ศึกษาโครงการฯ ส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน ผู้นำศาสนา สื่อมวลชน และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น จำนวน 635 คน มีผู้แสดงความคิดเห็นด้วยวาจา จำนวน 12 คน

นางสาวทิพย์อาภา ยลธรรม์ธรรม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า พลังงานไฟฟ้านับเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาของประเทศ ซึ่งภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต ภาคการบริการ รวมทั้งการดำเนินชีวิตของคนในยุคปัจจุบันล้วนพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าทั้งสิ้น การพัฒนาโครงการใด ๆ ควรปฏิบัติตามมาตรการในรายงาน EIA และดูแลเศรษฐกิจในภาพรวม คุณภาพชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อม เพื่อคนรุ่นหลังต่อไป สำหรับการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ของโครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1 ในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้ร่วมตรวจสอบความถูกต้องและความครบถ้วนสมบูรณ์ของร่างรายงานฯ รวมถึงได้รับทราบข้อมูล ข้อเท็จจริง เปิดโอกาสรับฟังข้อคิดเห็น อันแสดงถึงการมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการร่วมกับ กฟผ. ต่อไป


นายขรรชัย เกรียงไกรอุดม ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม บริษัท ซีคอท จำกัด กล่าวว่า การจัดรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ บริษัทฯ ได้นำเสนอรายละเอียดโครงการ ผลการศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ศึกษาโครงการฯ รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมตรวจสอบความถูกต้องและความครบถ้วนสมบูรณ์ของร่างรายงานฯ รวมถึงแสดงข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจากการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 และได้ดำเนินการสำรวจและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในขั้นตอนการประเมินและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เมื่อเดือนมีนาคม ถึงเดือนกรกฎาคม 2563

สำหรับการจัดรับฟังความคิดเห็นในครั้งที่ 2 สิ่งที่ประชาชนยังมีความกังวล ได้แก่ การดูแลผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านคุณภาพอากาศ ฝุ่น เสียงจากการก่อสร้าง การจัดการน้ำที่ระบายออกจากโรงไฟฟ้า การดูแลมลภาวะที่เกิดจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า การเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้า ฯลฯ ซึ่งทุกข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนจะเป็นประโยชน์ในการนำไปปรับปรุงรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1 ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อนำเสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาต่อไป

ด้าน นางศรีวรรณ บูรณโชคไพศาล ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า กฟผ. กล่าวว่า ขอขอบคุณผู้เข้าร่วมประชุมที่แสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ซึ่ง กฟผ. และบริษัทที่ปรึกษาจะรวบรวมความเห็น ไปจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีความสมบูรณ์และครอบคลุมเหมาะสมกับประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด


สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1 เป็นโครงการที่ถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 หรือ PDP2018 เพื่อเป็นการเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าในระยะยาวของเขตนครหลวงและปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบกับโรงไฟฟ้าเดิมที่มีอยู่จะหมดอายุ และทยอยถูกปลดออกจากระบบ จึงจำเป็นต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ให้เพียงพอต่อความต้องการเพราะหากเกิดเหตุสุดวิสัยอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าได้ ดังนั้น กฟผ. จึงได้พัฒนาโครงการฯ เพื่อเสริมความมั่นคงและตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น โดยโครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1 มีกำลังผลิตติดตั้งสูงสุด 830 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) ในปี พ.ศ. 2571 โดยจะก่อสร้างบริเวณพื้นที่โรงไฟฟ้าพระนครเหนือปัจจุบัน ณ สำนักงานกลาง กฟผ. อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เนื่องจากมีความพร้อมในด้านพื้นที่และระบบส่งไฟฟ้าที่มีอยู่เดิม ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้ามีราคาถูกลง จึงไม่เป็นภาระค่าไฟฟ้าของประชาชน

ทั้งนี้ ประชาชนทุกภาคส่วนสามารถแสดงความคิดเห็นต่อเนื่องได้จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ได้ที่แผนกประชาสัมพันธ์และชุมชนสัมพันธ์ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ กฟผ. โทรศัพท์ 0-2436-7855 E-mail: viphob.p@egat.co.th หรือ แผนกสิ่งแวดล้อมโรงไฟฟ้าก๊าซและน้ำมัน ฝ่ายสิ่งแวดล้อมโครงการ กฟผ. โทรศัพท์ 0-2436-0816, 0-2436-0813

E-mail: nickarin.p@egat.co.th, pornsarin.t@egat.co.th หรือ น.ส.จันทิมา ยะนิล และน.ส.ฟาเดีย เชิญถนอมวงศ์ บริษัท ซีคอท จำกัด เลขที่ 239 ถนนริมคลองประปา แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800 โทรศัพท์ 0-2959-3600 ต่อ 410, 413 และ 418 หรือ โทรสาร 0-2959-3535 หรือ E-mail: eedmail@secot.co.th . – สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ป.ป.ส. รวบ 3 นักค้ายาเสพติดต่างชาติ ที่สนามบินสุวรรณภูมิ

ป.ป.ส. รวบนักค้ายาเสพติดต่างชาติ 3 ราย ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ส่งออกไปอิตาลี-อังกฤษ เลขาฯ ป.ป.ส. เผยความสำเร็จครั้งนี้เป็นผลจากการประสานงานใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ตรวจสอบตลาดปาล์มน้ำมัน หลังราคาพุ่ง

ช่วงนี้น้ำมันปาล์มตามท้องตลาดปรับราคาแพงขึ้น จากเดิมขวดละราว 10 บาท ทำให้ผู้บริโภคถึงกับโอดครวญ ขณะที่เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ระบุแม้ช่วงนี้ราคาปาล์มน้ำมันขายได้ราคาดีที่สุดในรอบหลายปี แต่เกษตรกรกลับไม่มีปาล์มขาย

ข่าวแนะนำ

อุตุฯ เผยอีสาน อุณหภูมิลดลงเล็กน้อย-ใต้ตอนบน ฝนตกหนัก

กรมอุตุฯ เผยภาคใต้ตอนบน มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ส่วนประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อยในภาคอีสาน โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งในภาคตะวันออก และภาคกลางตอนล่าง

เดินหน้าเสนอ ครม. ตั้งคณะกรรมการร่วมไทย-กัมพูชา เจรจาพื้นที่ทับซ้อน

กระทรวงการต่างประเทศ เดินหน้าเสนอ ครม. ตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค JTC ไทย-กัมพูชา เจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา ตามแนว MOU 2544 ยืนยันไม่ทำให้เสียเกาะกูด

เข้าสู่ฤดูหนาว

อุตุฯ ประกาศไทยเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว

กรมอุตุฯ ประกาศการเข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศไทย ปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ย. โดยเป็นการเข้าสู่ฤดูหนาวช้ากว่าปกติประมาณ 2 สัปดาห์ เนื่องจากมีพายุก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกและเคลื่อนเข้าสู่ทะเลจีนใต้ และยังมีฝนบางพื้นที่ ปีนี้จะหนาวกว่าปีที่แล้ว