กรุงเทพฯ 21 ส.ค. – การทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับในคดีอาญา ถูกบรรจุในกฎหมายอาญา ตั้งแต่ปี 2545 แต่ที่ผ่านมากลับพบนำมาใช้น้อยมาก ปัจจุบันศาลอาญาทั่วประเทศเริ่มนำมาใช้มากขึ้น โดยมีหลักเกณฑ์ชัด คือ ต้องกระทำผิดครั้งแรก คดีไม่ร้ายแรง เช่น ลักทรัพย์เล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้โอกาสคนกลุ่มนี้ไม่ต้องถูกกักขังในเรือนจำ
การสอนหนังสือภายในศูนย์พัฒนาเด็กพิเศษชุมชนทุ่งสองห้อง คือ งานบริการสังคมที่ผู้ต้องโทษในคดีลักทรัพย์คนนี้ทำแทนการจ่ายค่าปรับในคดีอาญา หลังศาลอาญาพิพากษาให้เธอถูกจำคุก 2 ปี รอลงอาญา และปรับ 39,500 บาท แต่เธอไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ เพราะก่อนหน้านี้นำเงินมาประกันตัวระหว่างต่อสู้คดีจนหมดแล้ว จึงเลือกทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับตามที่ศาลแนะนำ แทนการถูกคุมขังในเรือนจำ
การทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับในคดีอาญา กรณีที่ไม่มีเงินชำระค่าปรับ จะกำหนดชั่วโมงทำงานของผู้ต้องโทษ เป็นการทำงาน 1 วัน โดยแบ่งงานเป็น 3 ประเภท คือ การช่วยเหลือดูแลคนพิการ คนชรา กำหนด 2 ชั่วโมง เท่ากับ 1 วัน งานวิชาชีพช่างฝีมือ กำหนด 3 ชั่วโมง เท่ากับ 1 วัน และงานบำเพ็ญประโยชน์ที่ไม่ต้องใช้ความรู้ กำหนด 4 ชั่วโมง เท่ากับ 1 วัน โดยศาลจะหักค่าปรับวันละ 500 บาท เท่ากับวันกักขังแทนค่าปรับ
ส่วนผู้ต้องโทษที่สามารถยื่นขอพิจารณาได้นั้น ต้องไม่กระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ายาเสพติดจำนวนมาก การฟอกเงิน หรือการฉ้อโกงประชาชนที่ส่งผลกระทบต่อสังคม นอกจากนี้ ต้องไม่มีประวัติทำความผิดมาก่อน และจะพิจารณาจากความร้ายแรงของการกระทำความผิด และความเสียหายที่เกิดขึ้น
รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ระบุว่า ผู้กระทำความผิดส่วนใหญ่ที่เข้าข่ายมักจะทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความยากจน หรืออารมณ์ชั่ววูบ นี่จึงถือเป็นการให้โอกาส และไม่ผลักคนกลุ่มนี้เข้าไปถูกคุมขังในเรือนจำ เพียงเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ
หลังศาลมีคำสั่ง กรมคุมประพฤติจะเป็นผู้กำหนดวันทำงาน ควบคุมและติดตามให้ผู้ต้องโทษมาทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับให้ครบตามที่ศาลกำหนด หากไม่มาจะทำรายงานต่อศาลให้ออกหนังสือเรียก และเพิกถอนคำสั่งให้ปรับหรือกักขังได้
กรมคุมประพฤติ เก็บสถิติผู้ต้องโทษที่ทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ พบว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2563 มีกว่า 8,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติด จราจร และความผิดเกี่ยวกับทรัพย์
มีข้อมูลว่า ที่ผ่านมาการทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับในคดีอาญา ในกรณีที่เข้าเงื่อนไข ถูกนำมาใช้น้อยมาก ผู้มีอำนาจในการบังคับใช้ ให้เหตุผลว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขาดการสร้างการรับรู้ให้ประชาชน ทำให้ผู้ต้องโทษส่วนใหญ่ไม่รู้สิทธิ แม้จะทราบแล้ว การดำเนินการยื่นเอกสารขอพิจารณาก็ทำได้ยาก เพราะถูกคุมขังในเรือนจำ. – สำนักข่าวไทย