อุดรธานี 17 ส.ค. – กองทุนฟื้นฟูฯ เดินหน้ามอบโฉนดคืนเกษตรกรภาคอีสาน 200 ราย เริ่มฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร ผลักดันนโยบายกองทุนฟื้นฟูฯ ผลิต พาณิชย์ตลาด เพื่อสร้างเซลล์แมนจังหวัดหาตลาดให้เกษตรกร
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กล่าวระหว่างการมอบมอบโฉนดที่ดินทำกินให้กับเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่า การส่งมอบหลักประกันคืนแก่เกษตรกรสมาชิกจาก 17 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 205 ราย 268 แปลง ที่ได้รับการส่งมอบหลักประกันคืน คิดเป็นเนื้อที่ 2,188 ไร่ และการมอบเช็คชำระหนี้แทนเกษตรกรสมาชิก 16 ราย ให้กับสหกรณ์การเกษตรเมืองอุดรธานี จำกัด และสห กรณ์การเกษตรอีกหลายจังหวัด รวมเงินทั้งสิ้น 10 ล้านบาท เพื่อหวังลดภาระหนี้ให้เกษตรกร พร้อมขยายการช่วยเหลือให้ครอบคลุมเกษตรกรที่มีปัญหาถูกยึดโฉนด
“กองทุนฟื้นฟูฯ ซื้อหนี้และหลักประกัน นำมาให้เกษตรกรผ่อนชำระกับกองทุนฟื้นฟูแทน เพื่อให้โฉนดที่ดินกลับมาอยู่ในเมืองของชาวบ้านเหมือนเดิม เมื่อได้ที่ดินคืนอย่าปล่อยให้ที่ดินหลุดไปอีก วนไปมา กองทุนฟื้นฟูฯ จะไม่มีเงินเข้าไปช่วยเหลือซ้ำอีก เพื่อส่งต่อให้ทายาท หลังจากนี้จะต้องเข้าสู่ขั้นตอนการฟื้นฟูอาชีพ การทำมาหากิน ทำเกษตรได้อย่างยั่งยืน โดยสำรองเงินเริ่มต้น 32,000 กลุ่มมีศักยภาพในการฟื้นฟู เตรียมเงินจัดสรรให้กลุ่มละ 30,000 บาท” นายจุรินทร์ กล่าว
หลังจากบอร์ดกองทุนฟื้นฟูฯ เห็นชอบการขึ้นทะเบียนหนี้เพื่อจัดการหนี้ให้กับเกษตรกรสมาชิก 17,294 ราย จำนวน 65,547 สัญญา จำนวน 9,693 ล้านบาท และเห็นชอบให้ขยายวงเงินการชำระหนี้แทน จากเดิมรายละไม่เกิน 2.5 ล้านบาท ขยายเป็นรายละไม่เกิน 5 ล้านบาท อนุมัติชำระหนี้แทนเกษตรกร 452 ราย 648 สัญญา จำนวน 332 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังเร่งแก้ไขปัญหาหนี้ดำเนินคดี ซึ่งเป็นหนี้เร่งด่วน ด้วยการชำระหนี้แทนเกษตรกรในชั้นบังคับคดีขายทอดตลาดให้กับสำนักงานบังคับคดี
นายสไกร พิมพ์บึง รักษาการเลขาธิการกองทุนฟื้นฟูฯ (กฟก.) กล่าวว่า ปัจจุบันกองทุนฟื้นฟูฯ โอนกรรมสิทธิ์หลักประกันคืนให้กับเกษตรกร ซึ่งผ่อนชำระและปิดบัญชีแล้ว 5,123 ราย 7,446 แปลง เนื้อที่ 55,734 ไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ส่งมอบหลักประกันคืนแก่เกษตรกรไปแล้ว 1,000 ราย 1,333 แปลง เนื้อที่ 11,773 ไร่ เพื่อหวังให้สมาชิกได้มีที่ดินทำกินส่งต่อไปยังรุ่นลูกหลาน และยังต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูอาชีพเพิ่มเติม
นายจุรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงพาณิชย์ต้องการผลักดันนโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” เพื่อให้พาณิชย์จังหวัดเป็นเซลล์แมนจังหวัด การร่วมจับคู่ธุรกิจ การสนับสนุนตลาดต้องชม ตลาดเกษตรอินทรีย์ ร้านโชว์ห่วย ส่งเสริมการค้าออนไลน์กระจายสินค้าไปต่างประเทศ เพื่อช่วยหาตลาดให้กับเกษตรกร .-สำนักข่าวไทย