กรุงเทพฯ 15 ส.ค.- การสั่งคดีไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา ที่นำไปสู่การลาออกของนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด แต่เมื่อเจ้าตัวประกาศลาออก ทำให้เกิดคำถามว่าจะยังดำเนินการสอบวินัยได้หรือไม่ ติดตามจากรายงาน
สำนักงานอัยการสูงสุดตั้งคณะทำงานตรวจสอบการสั่งคดีของนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ที่สั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ขับรถชนดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ เสียชีวิต เมื่อปี 55 ถัดมาเพียง 1 วัน นายเนตร ยื่นหนังสือลาออกต่ออัยการสูงสุดเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจและแสดงสปิริตแก่องค์กรอัยการ ทำให้เกิดคำถามว่า เมื่อลาออกแล้ว ยังสอบวินัยได้หรือไม่
นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ และอดีตอัยการสูงสุด ให้คำตอบว่า ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 58 หากอัยการสูงสุดสุดอนุญาตให้ลาออก ก็ถือว่านายเนตร พ้นจากตำแหน่งทันที ไม่สามารถตั้งกรรมการสอบวินัยได้ แต่หากอัยการสูงสุดพิจารณาเเล้วเห็นว่าจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่ราชการ จะยับยั้งการให้ลาออกไว้ได้ไม่เกิน 3 เดือน นับแต่วันขอลาออก
แต่การสอบวินัยเป็นคนละส่วนกับการตรวจสอบการใช้ดุลพินิจ ดังนั้น ไม่ว่าจะมีการดำเนินการสอบวินัยหรือไม่ แต่การตรวจ สอบการใช้ดุลพินิจในการสั่งคดีสามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการอัยการในวันที่ 18 สิงหาคมนี้
และแม้หากไม่สามารถเอาผิดทางวินัย ก็ยังสามารถเอาผิดทางอาญาได้ หากยังไม่หมดอายุความ ซึ่งผู้มีอำนาจสูงสุดในการยื่นร้องเอาผิดคืออัยการสูงสุด อย่างไรก็ตาม ประชาชนทั่วไปก็สามารถยื่นร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อให้เอาผิดอาญากับบุคคลที่กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ได้เช่นกัน
ประธานคณะกรรมการอัยการยังให้ความเห็นถึงคำสั่งกลับไม่ฟ้องคดีของนายเนตร น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีของนายวรยุทธ เดิมมีคำสั่งฟ้องคดี และมีการร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้ง ต่อมาร้อยตำรวจตรีพงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุดขณะนั้น มีความเห็นสั่งยุติการพิจารณาการร้องขอความเป็นธรรม และให้อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ดำเนินคดีต่อไป เมื่อนายวรยุทธ ร้องขอความเป็นธรรมอีก หากนายเนตร จะมีคำสั่งกลับไม่ฟ้อง ต้องเสนอความเห็นไปยังอัยการสูงสุดก่อน แต่กลับไม่มีเสนอตามขั้นตอ
ทางออกที่ทำได้ทันที คือ แก้ไขหรือออกระเบียบการดำเนินคดีอาญาของอัยการให้ชัดเจน มีขั้นตอน และรัดกุม เพื่อเรียกความเชื่อมั่นต่อองค์กรอัยการกลับคืน.-สำนักข่าวไทย