สผ. 15 ส.ค.63 – สผ. พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และให้บริการประชาชน เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติไทยแลนด์4.0
ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมขาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สผ.ซึ่งมีภารกิจด้านกำหนดนโยบายและแผนการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยเสนอแนะนโยบายและแผนการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ติดตามตรวจสอบมาตรการเงื่อนไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจของประเทศ และสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนและคุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้วิสัยทัศน์ สร้างสมดุลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในปี 2580
ที่ผ่านมา สผ. ได้นำเทคโนโลยีมาใช้สนับสนุนในการปฏิบัติงาน โดยสร้างนวัตกรรม และรูปแบบการบริการใหม่ เช่น Smart E-Fund ระบบฐานข้อมูลของกองทุนสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงข้อมูลให้ครอบคลุมในทุกด้าน รองรับการใช้งานผ่าน เว็บไซต์ และ แอพพลิเคชั่น ยกระดับการให้บริการแก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ลดขั้นตอน มีความถูกต้องแม่นยำ โดย Smart E-Fund จะเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลทั้ง 3 ระบบ คือ 1. ระบบการยื่นข้อเสนอโครงการ เป็นการยื่นข้อเสนอโครงการด้วยตนเองผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อมในการจัดทำโครงการหรือกิจกรรมการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ 2. ระบบการตรวจสอบสถานะโครงการ เป็นการตรวจสอบสถานะของโครงการของผู้ยื่นข้อเสนอโครงการว่าอยู่ในขั้นตอนใด และ 3. ระบบรายงานติดตามโครงการ เป็นการรายงานผลการดำเนินโครงการของผู้ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม ให้กองทุนสิ่งแวดล้อมทราบเป็นรายไตรมาสว่าโครงการมีการดำเนินงานตามแผนที่กำหนดไว้หรือไม่ ระบบนี้ยังใช้สืบค้นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2535 จนถึงปัจจุบัน Smart E-Fund เป็นระบบที่สร้างพลังเครือข่ายให้มีส่วนร่วมเพื่อป้องกัน ดูแล ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน แลช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวสู่Thailand 4.0 อย่างเต็มตัว
ระบบคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย TH-BIF หรือ Thailand Biodiversity Information Facility เป็นศูนย์กลางข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2561-2565 โดยดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงาน สถาบันการศึกษาและหน่วยวิจัย ให้บริการสืบค้นข้อมูลพืช สัตว์ และจุลินทรีย์ สิ่งมีชีวิตต่างถิ่น ระดับความรุนแรงของการรุกรานสถานภาพการคุกคาม สถานภาพทางกฎหมาย ภูมิปัญญา และการนำไปใช้ประโยชน์
รวมไปถึงข้อมูลสนับสนุนด้านทรัพย์สินทางปัญญา ผู้เชี่ยวชาญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยสผ. ได้พัฒนาช่องทางการนำเข้าระบบคลังข้อมูล ให้ผู้ใช้งานเข้าถึงเรียกดูข้อมูลได้ ณ จุดเดียว เพิ่มศักยภาพในการคุ้มครองด้านความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนเป็นข้อมูลสนับสนุนการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร งานวิจัย นำมาใช้พัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพ
ระบบสารสนเทศการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย TGEIS หรือ Thailand Greenhouse Gas Emissions Inventory systems เป็นระบบที่ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรเลีย ออกแบบระบบฐานข้อมูลพร้อมพัฒนาเว็บไซต์เป็น เว็บแอพพลิเคชั่นระบบปิด ที่ใช้งานผ่าน Intranet Web Base ช่วยให้มั่นใจในความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล โดยมีวิธีประเมินผลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามคู่มือ IPCC 2006 ทำให้ไทยมีฐานข้อมูลกลางในการรวบรวมและจัดเก็บข้อมูล เพื่อประเมินบัญชีก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นระบบ และประกอบในรายงานที่เสนอต่อUNFCCC ได้ ทั้งนี้ยังเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับนำไปใช้ประกอบในการวางแผนกำหนดนโยบาย มาตรการการลดก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการกำหนดทิศทางการวางยุทธศาสตร์ของประเทศอีกด้วย
สำหรับการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA สผ. ได้จัดทำศูนย์ข้อมูลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม Smart EIA ให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกรวดเร็ว มีการทำงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมถึงง่ายต่อการใช้งานในพื้นที่ สามารถสืบค้นข้อมูล ค้นหาโครงการที่ต้องจัดทำ EIA ที่ผ่านความเห็นชอบจาก สผ. ตรวจสอบได้ว่าบริเวณใกล้เคียงมีโครงการที่ผ่านความเห็นชอบแล้วหรือไม่ และมีรายละเอียดโครงการอย่างไรได้ทันทีผ่านแอพพิเคชั่น โดยประชาชน และหน่วยงานต่าง ๆ สามารถตรวจสอบผลการพิจารณารายงาน EIA สถานะการส่งรายงาน Monitor และสถานภาพการขอรับใบอนุญาตเป็นผู้มีสิทธิทำรายงาน EIA ที่ยื่นผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์
ด้านเจ้าของโครงการ นิติบุคคล ผู้มีสิทธิทำรายงาน หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจ สามารถตรวจสอบสถานะรายงาน EIA รายงาน Monitor และการขอรับใบอนุญาตเป็นผู้มีสิทธิทำรายงาน EIA ที่ยื่นผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ทั้งกระบวนการเป็นการเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ
นอกจากนี้รายงาน EIA รายงาน Monitor และข้อมูลการขอรับใบอนุญาตนั้น ได้รับการยอมรับว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยป้องกันและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนในทุกระดับมีความเสมอภาค และเท่าเทียม ทั้งหมดนี้จะช่วยยกระดับให้ สผ. ก้าวเข้าสู่องค์กรดิจิตอลที่มีการทำงานที่เปิดกว้าง เชื่อมโยงข้อมูลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ยกระดับการทำงานด้วยนวัตกรรม ซึ่งจะตอบสนองการให้บริการประชาชนและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้พร้อมเดินทางไปสู่องค์กรดิจิตอล ภายใต้การดำเนินงานที่ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีธรรมาภิบาล บนพื้นฐานการขับเคลื่อนประเทศไทย สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน .-สำนักข่าวไทย