กทม.12 ส.ค.-“นพ.ยง” โพสต์อธิบายเรื่องโควิด-19 ความหลากหลายทางพันธุกรรม กับการกลายพันธุ์ โดยความหลากหลายทางพันธุกรรมเป็นการเปลี่ยนแปลงทางวิวัฒนาการ ส่วนการกลายพันธุ์เป็นการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม สำหรับเชื้อโควิดขณะนี้ยังเป็นความหลากหลายทางพันธุกรรม ตามวิวัฒนาการ เปลี่ยนแปลงจากบรรพบุรุษเป็นสายพันธุ์ต่างๆ และมีการแพร่กระจายออกไปทั่วโลก
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง “โควิด-19 ความหลากหลายทางพันธุกรรม กับ การกลายพันธุ์” อยากจะทำความเข้าใจ เพื่อจะได้ไม่ต้องไปโหนกระแส
ความหลากหลายทางพันธุกรรม (Polymorphism) ในส่วนของ DNA และ RNA เป็นการเปลี่ยนแปลงทางวิวัฒนาการ เช่นในมนุษย์ ทำให้เกิด สูง ต่ำ ดำขาว ผิวขาว ผิวสี ผิวแบบคนเอเชีย โดยที่ทุกคนก็ยังเป็นคน ทำนองเดียวกัน เชื้อโควิด ก็มีการวิวัฒนาการเกิดความหลากหลายทางพันธุกรรม เป็นสายพันธุ์ต่างๆ เป็นสายพันธุ์ S, L, V, G โดยบทบาทใหญ่ก็ยังเป็นเชื้อโควิด ทั้งด้านความรุนแรงและระบบภูมิต้านทานก็ยังคงเหมือนเดิม
การกลายพันธุ์ (Mutation) เป็นการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม หรือ DNA RNA ทำให้ มีลักษณะแตกต่างจากเดิม ทำให้การทำงาน การแสดงออก หรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป เช่น ไข้หวัดนก H5 เดิมอยู่ในนก นกส่วนใหญ่ไม่มีอาการ แต่เมื่อมีการสอดแทรก RNA ในส่วน ของยีน H5 ทำให้เพิ่มการสร้างกรดอะมิโนที่เป็น Basic ในบริเวณจุดตัด cleavage site ทำให้ไวรัสคุกคามนกได้ง่าย และเกิดความรุนแรงในนก และยังมีโอกาสข้ามมายังคนได้ ดังในอดีตที่เราเจอปัญหา ไข้หวัดนก
ในทำนองเดียวกันเชื้อโควิด-19 ขณะนี้ ยังเป็นความหลากหลายทางพันธุกรรม ตามวิวัฒนาการ เปลี่ยนแปลงจากบรรพบุรุษเป็นสายพันธุ์ต่างๆ และมีการแพร่กระจายออกไปทั่วโลก สายพันธุ์G ระบาดมากและแพร่ กระจายได้ง่าย ในยุโรปและอเมริกาเข้าสู่ตะวันออกกลาง จึงเป็นสายพันธุ์เด่นในขณะนี้ สายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทยก่อนหน้านี้พบๆสายพันธุ์เด่น เป็นสายพันธุ์ S
นักวิทยาศาสตร์ที่ทำการศึกษาวิจัยจากหลายแห่งที่เผยแพร่ในวารสาร ศึกษาวิจัย พบว่าสายพันธุ์G แพร่กระจายได้ง่าย (Korber B et al Cell, 2020, Yurkovetskiy L et al, bioRxiv 2020, Zhang L et al BioRxiv 2020,) แต่โรคไม่ได้ทำให้โรครุนแรงขึ้น เปลี่ยนแปลงระบบภูมิต้านทาน แต่อย่างใด
ความหลากหลายทางพันธุกรรม ยังมีประโยชน์ในการติดตาม แยกแยะหรือหาแหล่งที่มา เช่นในการพิสูจน์เอกลักษณ์ของบุคคล ของสิ่งมีชีวิตรวมทั้งไวรัส .-สำนักข่าวไทย