เบโด้ 10 ส.ค. 63 – สนง.พัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ ชูให้ห้อม จ.แพร่ เป็นจังหวัดที่มีเนื้อห้อมธรรมชาติที่ดีที่สุดในประเทศ พร้อมสนับสนุนนวัตกรรมขยายผลิตภัณฑ์ ยกระดับเศรษฐกิจชุมชนจากพืชท้องถิ่น
สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO ศึกษาวิจัยพบว่าต้นห้อม พืชธรรมชาติ ท้องถิ่นใน จ.แพร่ มีคุณภาพดีที่สุดในประเทศ โดยเตรียมสนับสนุนชุมชน จ.แพร่ ให้ใช้ทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ ด้วยกระบวนการผลิตที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ
นางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล ผู้อำนวยการ BEDO กล่าวว่า จ.แพร่ มีสายพันธุ์ต้นห้อมคุณภาพดีที่สุดในประเทศไทย พบมากในป่าชุมชนบ้านนาคูหา และชุมชนบ้านนาตอง เป็นหนึ่งในชุมชนต้นน้ำ ที่เก็บห้อมจากป่ามาเพาะขยายพันธุ์และใช้ประโยชน์ผลิตเป็นวัตถุดิบห้อมเปียก ที่คุณภาพสูงมีศักยภาพเป็นต้นน้ำของแหล่งปลูกต้นห้อมคุณภาพดีที่สามรถให้สารสกัดสีน้ำเงิน หรือ Indican จากลำต้นและใบ สามารถนำมาแปรรูปด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นได้เป็นเนื้อห้อม วัตถุดิบสำคัญการย้อมผ้าจากสีธรรมชาติ
ทั้งนี้ชุมชนกลุ่มห้อมบ้านนาคูหา เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่กลางหุบเขาสูงกว่าระดับน้ำทะเล จึงเหมาะสำหรับการปลูกต้นห้อมกลุ่มใบใหญ่ ที่มีคุณภาพให้เนื้อห้อมและปริมาณสารอินดิโก้สูง ซึ่ง BEDO ได้เข้ามาส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนบ้านนาคูหา เป็นต้นน้ำการผลิตทำห้อมสด และเนื้อห้อมเปียก ส่งออกห้อมเปียกให้กับชุมชนที่อยู่ในเมืองนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมห้อมสีธรรมชาติที่มีคุณภาพสูง
BEDO ยังได้ส่งเสริมให้ชุมชนได้พัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย และขยายช่องทางการตลาดให้กว้างขึ้น โดยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ ผลิตชุด Kit ผ้าเช็ดหน้า และเสื้อ โดยผู้ซื้อสามารถย้อมผ้าห้อมได้ด้วยตัวเองทุกที่ทุกเวลา ตามคำแนะนำและอุปกรณ์สำเร็จในกล่อง หรือ ชุด Kit สีน้ำระบายสีน้ำเงินครามจากห้อม
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาห้อมเปียก และ ห้อมผง บรรจุในกระปุกที่มีศักยภาพในการป้องกันปัญหาห้อมตายหรือเสีย เพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งและจำหน่ายไปยังต่างถิ่นหรือต่างประเทศ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ประธานกรรมการ BEDO กล่าวว่า BEDO เข้ามาฟื้นฟู และส่งเสริมการขยายพันธุ์ เพาะปลูก ดูแลรักษา ทำเนื้อห้อม และนำมาย้อมผ้าหม้อห้อม เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตห้อมอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำไปสู่ปลายน้ำ อีกทั้งยังส่งเสริมด้านอนุรักษ์ ชุมชนมีรายได้และมีอาชีพเสริมควบคู่กัน เป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยสนับสนุนให้ชุมชนเกิดความมั่นคงทางทรัพยากรและรายได้อย่างยั่งยืน .-สำนักข่าวไทย