กรุงเทพฯ 6 ส.ค. – นายกรัฐมนตรียอมรับเศรษฐกิจไทยปีนี้อาจติดลบใกล้เคียงร้อยละ 10 เร่งหามาตรการใหม่พยุงหลังคาดโควิด-19 กระทบโลกยาวนาน 2-3 ปี เอกชนเตรียมกระทุ้งมาตรการใหม่ผ่านรัฐมนตรีเศรษฐกิจคนใหม่ ขณะนี้รอ รมว.พลังงานตัดสินใจโรงไฟฟ้าชุมชนและการนำเข้าแอลเอ็นจีของผู้ประกอบการรายใหม่
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้เปิดเผยว่า นโยบายการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เสรี แม้ว่าทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะให้ใบอนุญาตประกอบการกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper LNG) ให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ เช่น กลุ่ม กัลฟ์ และบีกริม แล้ว แต่ สนพ.จะต้องรอนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการทรวงพลังงานคนใหม่ จากนั้นจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาต่อไป หากไม่มีอะไรติดขัดก็น่าจะเห็นการนำเข้า LNG ของรายใหม่ได้บ้างภายในปีนี้ โดยการนำเข้าต้องรับฟังข้อสรุปจากทาง บริษัท PTTLNG ผู้บริหารท่าเทียบเรือและสถานีรับ-จ่าย Map Ta Phut LNG Terminal รวมทั้งต้องดูสัญญาก๊าซของ ปตท.ด้วยว่าจะเกิดปัญหาการจ่ายค่าก๊าซตามสัญญาไม่ว่าจะใช้ก๊าซหรือไม่ก็ตาม (Take or pay) หรือไม่ เพราะหากนำเข้ามาก็อาจจะกระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “พลิกฟื้นประเทศไทย : ก้าวต่อไปอย่างมั่นคง” ในงานครบรอบ 74 ปี หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ โดยกล่าวตอนหนึ่งว่าตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ อัตราการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจปี 2557 อยู่ที่เพียงร้อยละ 1.0 เพราะมีปัญหาความขัดแย้ง ความไม่มีเสถียรภาพ แต่ก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นร้อยละ 3.1 และร้อยละ 3.4 ในปี 2558 และ 2559 จากนั้นก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนเมื่อถึงปี 2563 ประเทศไทยเผชิญปัญหาสำคัญ ทั้งเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจภายในประเทศ ที่ต้องเผชิญวิกฤตการณ์ ทั้งการค้า การลงทุนต่างประเทศ สิ่งสำคัญที่สุด คือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทุกคนทราบดีว่าสถานการณ์เศรษฐกิจอยู่ในช่วงถดถอยทั้งโลก ประเทศไทยที่ว่าแย่ แต่ก็ยังมีหลายประเทศที่แย่มากกว่า ดังนั้น จึงขออย่าท้อแท้ ต้องทำให้ดีและฟันฝ่าอุปสรรคไปให้ได้ ทุกคนต้องอดทนบ้าง และคาดว่าจากปีนี้จนถึงปีหน้าและปีต่อไปอีก 2 หรือ 3 ปี กว่าจะทุกอย่างจะกลับมาฟื้นฟูเข้มแข็งได้ จึงต้องหาวิธีการแก้ไขปัญหา ซึ่งความร่วมมือและความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญ ลดความขัดแย้งในหลาย ๆ ประเด็น สร้างความมีเสถียรภาพเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นทั้งภายในและภายนอกประเทศ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยมีเสถียรภาพเรื่องการเงินการคลัง ฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง ทั้งดุลบัญชีเดินสะพัด ทั้งในส่วนของกองทุนสำรองระหว่างประเทศมีผลทำให้มีดอลลาร์เข้ามาใช้จ่ายในประเทศจำนวนมาก ทำให้เกิดดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล สิ่งเหล่านี้จะทำให้ค่าเงินของเราแข็งพอสมควร แต่ก็จำเป็นต้องมีมาตรการที่ระมัดระวัง ทั้งมาตรการการเงินสมัยใหม่ที่ต้องเสริมเข้ามา
“คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะติดลบไม่ถึง 10% น้อยกว่าประเทศอื่น ๆที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และเศรษฐกิจบางประเทศจะติดลบมากถึง 20 – 30% หากภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวมากขึ้นการติดลบของเศรษฐกิจก็ลดลง ซึ่งการที่เศรษฐกิจไทยติดลบน้อยกว่าประเทศอื่น ๆนั้น เนื่องจากสามารถรับมือกับการระบาดได้ดีและมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่เข้มแข็งมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดยังมีเงินดอลลาร์ที่เข้ามาใช้จ่ายในประเทศมาก ทำให้เงินบาทแข็งค่า ซึ่งเรื่องนี้จะมีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างระมัดระวัง ซึ่งอาจจะต้องมีมาตรการทางการเงินเพิ่ม” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ภาคการส่งออกต้องยอมรับว่าต้องหาตลาดส่งออกทดแทนตลาดเดิมและใช้จุดเด่นสินค้าที่มีความได้เปรียบ เช่น สาธารณสุข เครื่องมือแพทย์ สินค้าเกษตร เพื่อสร้างโอกาสในการสร้างเศรษฐกิจในประเทศ เพิ่มการจ้างงาน การช่วยเหลือเอสเอ็มอี ขณะที่เรื่องหนี้สินภาคครัวเรือนก็ต้องจับตา เพราะขณะนี้หนี้ครัวเรือนที่เป็นส่วนบัตรเครดิต หนี้เพื่อการบริโภคก็สูงถึง 40% ส่วนอีก 60% เป็นหนี้จากการซื้อรถ ที่อยู่อาศัย และหนี้เพื่อการสร้างอาชีพส่วนนี้ต้องดูว่าจะให้ความช่วยเหลือลดภาระประชาชนได้อย่างไร รวมถึงการจัดการหนี้เดิมที่มีอยู่ อาทิ มาตรการพักเงินต้น ลดดอกเบี้ย และขยายระยะเวลาชำระหนี้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบให้ประชาชนสามารถดำรงชีพอยู่ได้ในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยภาครัฐได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาประชาชน เช่น มาตรการการลดภาระค่าใช้จ่ายครัวเรือนของประชาชน เช่น การลดค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า การสนับสนุนเงินให้แก่ประชาชนกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ เช่น ลูกจ้างรายวัน มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบการท่องเที่ยว เพื่อให้ทรัพยากรของภาครัฐเพียงพอต่อการพยุงสถานการณ์เศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพในระยะเร่งด่วนรัฐบาลจึงได้ตรา พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท
นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวภายหลังรับฟัง นายกรัฐมนตรี โดยให้ความเห็นถึงรายชื่อรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ทั้งนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน และนายปรีดี ดาวฉาย รมว.คลัง ต่างเป็นผู้คุ้นเคยที่ทำงานร่วมกันทั้งใน ส.อ.ท. และในคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ซึ่งรู้ปัญหา ด้านเศรษฐกิจต่าง ๆ มาเป็นอย่างดี และจากปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ที่ขณะนี้เกิดการระบาดรอบ 2 ในหลายประเทศ ซึ่งกระทบหนักมายังประเทศไทยทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว และอื่น ๆ ดังนั้น กกร.และตัวแทนสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ แห่งประเทศไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ได้ตั้งคณะทำงานฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อรวบรวมปัญหาทางออกทั้งหมด และนำไปหารือกับ รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจคนใหม่ โดยจากที่ผลกระทบยืดเยื้อ ดังนั้น ภาครัฐควรจะมีมาตรการใหม่ ๆ เพิ่มเติมออกมา รวมทั้งยืดเวลามาตรการเดิม เช่น การเพิ่มกระแสเงินสด การยืดการพักชำระหนี้ เพื่อให้ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการ มีเงินทั้งการดำรงชีพและบริหารงาน เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจที่หนักสุดไปได้
“นโยบายด้านเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 ต้องเร่งทำทุกด้าน อะไรที่เป็นของดีก็ควรทำต่อ เช่น เดินหน้าโรงไฟฟ้าชุมชม การเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินของภาครัฐ การใช้เงินตามกรอบ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เพื่อให้กระจายเม็ดเงินสู่สังคม สู่รากหญ้า ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร็ว รวมทั้งต้องมีมาตรการใหม่ ๆ กระตุ้นด้านท่องเที่ยว ด้านส่งออก ซึ่งรัฐมนตรีหลายคนก็เปลี่ยนหมวกจากเอกชนมา คาดว่าจะรู้ปัญหาและทำงานร่วมกันเอกชนในการคลายล็อกต่าง ๆ และฟื้นฟูเศรษฐกิจ” นายสุพันธุ์ กล่าว. -สำนักข่าวไทย