กรุงเทพฯ 24 ก.ค. – สจล.โชว์ผลงาน “ดีไซน์ดิสรัปชัน” ลดเสี่ยงโควิด-19 ในพื้นที่ชุมชน ห้องเรียน โรงพยาบาล ชี้ 3 เทรนด์ดีไซน์ คือ รักษาความสะอาด User friendly และต้องให้สังคมเข้าถึงได้
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ตลอดช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 สจล.ได้พัฒนานวัตกรรม เพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ ตรวจคัดกรองและรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 อาทิ นวัตกรรมตู้ตรวจเชื้อความดันลบ ความดันบวก รถตู้โมบายล์ Swab Test ระบบ AI คัดกรองอุณหภูมิ ซึ่งเป็นผลสำเร็จจากการบูรณาการองค์ความรู้ด้านต่างๆ ซึ่งแม้ว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง แต่งานออกแบบจะยังคงมีบทบาทในการช่วยเหลือสังคมต่อไป โดยเฉพาะในด้านการออกแบบที่เปลี่ยนไป เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัยในยุคหลังโควิด-19 (Design disruption) โดยมี 3 แนวคิด ประกอบด้วย 1. งานออกแบบเพื่อสุขอนามัยส่วนตัวในพื้นที่ส่วนรวม แม้ผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น จึงต้องคำนึงถึงการเว้นระยะห่างทางสังคม การติดตั้งระบบฆ่าเชื้อด้วย UV-C หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ตามจุดต่างๆ การเลือกใช้วัสดุที่ลดความเสี่ยงการติดเชื้อ และการออกแบบระบบกรองอากาศเพื่อป้องกันเชื้อโรค
2. งานออกแบบเพื่อความสะดวกต่อผู้ใช้งาน โดยต้องคำนึงถึงสุขลักษณะ และเพื่อผู้ใช้ทุกกลุ่ม (Universal design) ให้ทุกคนเข้าถึงได้อย่างปลอดภัย และปลอดเชื้อไปพร้อมกัน 3. งานออกแบบที่สังคมเข้าถึงได้ คือ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริง นักออกแบบต้องวางแผนกระบวนการผลิต ตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุ การคำนวณต้นทุน ปริมาณการผลิตที่สมเหตุสมผล ตลอดจนการประเมินความสามารถในการใช้งานในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้งานออกแบบสามารถทำประโยชน์ให้แก่สังคมได้เป็นวงกว้าง
ทั้งนี้ สจล.เตรียมนำร่องประยุกต์ใช้แนวคิดการออกแบบดังกล่าวในห้องเรียน เพื่อต้อนรับการกลับมาเปิดภาคเรียนในเดือนสิงหาคมนี้. – สำนักข่าวไทย