กรุงเทพฯ 29 พ.ย. – นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ และโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ตามที่โครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4 -7 จังหวัดลำปาง มีการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ใหม่ เนื่องจากผลการประกวดราคาได้โรงไฟฟ้าขนาดกำลังผลิต 655 เมกะวัตต์ สูงกว่ากำลังผลิตเดิมในการจัดทำรายงาน EHIA ครั้งแรก ซึ่งมีกำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ เนื่องจากเป็นเครื่องที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมดีขึ้น อย่างไรก็ตาม กำลังผลิตติดตั้งที่เปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะต้องมีการจัดทำรายงาน EHIA ใหม่ด้วย
สำหรับโครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4-7 มีค่าควบคุมการระบายมลสารที่ปากปล่องโรงไฟฟ้าที่ดีกว่าเกณฑ์มาตรฐาน โดยการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) 236 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากค่ามาตรฐาน 471 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) 169 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากค่ามาตรฐาน 376 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และฝุ่นละออง 30 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากค่ามาตรฐาน 80 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะเห็นได้ว่าโครงการฯ ใหม่มีการควบคุมการระบายมลสารอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน และดีกว่าค่าที่ระบุใช้ใน EHIA เดิมขนาด 600 เมกะวัตต์
ส่วนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ค.1) เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ กฟผ.แม่เมาะ จังหวัดลำปาง และได้มีประชาชนจำนวนหนึ่งรวมตัวกันชุมนุมอภิปรายในประเด็นความกังวลเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตชุมชน กฟผ. จึงเลื่อนการรับฟังความคิดเห็นออกไปก่อนเพื่อทำความเข้าใจกับชุมชน และประชาสัมพันธ์การดำเนินการดังกล่าวอีกครั้ง โดย กฟผ.จะเชิญกลุ่มผู้นำชุมชนทุกกลุ่มมาหารือกันถึงแนวทางในการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในครั้งต่อไป.-สำนักข่าวไทย